คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12753/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ประเภทที่ 2 เป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายจ้างของโจทก์ จึงไม่ใช่กรณีที่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย เงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรายเดียวกัน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2 (ข) เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2553 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ได้รับในปีภาษี 2553 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์และให้บังคับจำเลยทั้งสี่คืนเงินจำนวน 216,588.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จแก่โจทก์
ในชั้นพิจารณารับคำคู่ความ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน ภ.ง.ด. 12 – 04130010 – 25550831 – 001 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.4 ปท./0090/2556 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2556 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษี จำนวน 208,714.77 บาท และจำนวน 5,202.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีที่ต้องคืนดังกล่าวโดยไม่ทบต้นนับจากวันที่โจทก์ชำระจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องคืน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายให้ใช้แทนจำนวน 6,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) ได้จดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2523 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2552 ขณะลาออกจากงาน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้แก่โจทก์จำนวน 851,535 บาท ภาษีเงินได้จำนวน 27,776.75 บาท โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2552 และแสดงในใบแนบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2552 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ โดยแสดงเงินได้ในส่วนเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 851,535 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) โจทก์ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการกองทุน ในส่วนเงินได้ที่ต้องเสียภาษี จำนวน 890,015.44 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ จำนวน 29,700.77 บาท โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2553 สำหรับเงินได้ในประเภทเงินเดือนและเงินปันผล มีภาษีชำระไว้เกิน 4,955.08 บาท และประสงค์ขอคืน และแสดงในใบแนบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2553 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ โดยแสดงเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 890,015.44 บาท โดยโจทก์เลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาดและหนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรไปยังโจทก์ โดยเห็นว่า ในปีภาษี 2552 โจทก์ได้นำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานไปเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นแล้ว เงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษี 2553 ซึ่งเป็นปีภาษีถัดไปโดยมิใช่ปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เนื่องจากการออกจากงาน เงินจำนวนดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ในปีภาษี 2553 โจทก์จะใช้สิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) อีกไม่ได้ เมื่อปรับปรุงนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมารวมกับเงินได้อื่น โจทก์มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมจำนวน 208,714.77 บาท เงินเพิ่มจำนวน 56,352.99 บาท รวม 265,067.76 บาท และจะต้องนำเงินภาษีที่ได้รับคืนไปแล้วมาส่งคืนจำนวน 4,955.08 บาท โดยโจทก์ได้รับหนังสือ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์และโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์นำเงินจำนวน 208,714.77 บาท ไปชำระภาษีตามการประเมิน คงค้างเฉพาะเงินเพิ่ม และได้นำเงินภาษีที่ได้รับคืน 4,955.08 บาท พร้อมเงินเพิ่มจำนวน 247.41 บาท รวม 5,202.49 บาท ไปชำระด้วย แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีในเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) จำนวน 890,015.44 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2553 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการกองทุน เป็นเงินสะสมของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ ถือเป็นการจ่ายในนามของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ดังนั้น การจ่ายเงินชดเชยและเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นการจ่ายจากนายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายรายเดียวกัน ไม่ใช่การจ่ายจากผู้จ่ายคนละราย โจทก์ไม่มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) บัญญัติว่า “ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานและได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด…” ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45 ) ฯ ดังนี้ “ข้อ 1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้… (ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน…ข้อ 2 เงินได้พึงประเมินตามข้อ 1 ที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้ (ก) เป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี… (ข) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ 1 จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น…” คดีนี้ข้อเท็จจริงความว่า โจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างจำนวน 851,535 บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 1 (ค) โดยนายจ้างจ่ายให้โจทก์ในปีภาษี 2552 ประเภทที่ 2 เป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 890,015.44 บาท โดยจ่ายในปีภาษี 2553 ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 1 (ข) เมื่อผู้ที่จ่ายเงินประเภทที่ 1 คือนายจ้างของโจทก์ ส่วนผู้ที่จ่ายเงินประเภทที่ 2 คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นกองทุนตามกฎหมายที่ได้จดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายจ้างของโจทก์ จึงไม่ใช่กรณีที่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย ประกอบกับการจ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 กำหนดไว้ มิใช่จ่ายตามความประสงค์ของนายจ้าง เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงถือว่าเป็นเงินที่จ่ายในนามของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีจึงเห็นได้ชัดว่าเงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรายเดียวกัน ไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2 (ข) ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2553 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 890,015.44 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2553 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน ภ.ง.ด. 12 – 04130010 – 25550831 – 001 นั้น เห็นว่า การระบุตัวเลขดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนตามที่ปรากฏในหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็น ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 12 – 04130010 – 25550831 – 001 – 00007 นอกจากนี้ในส่วนที่พิพากษาให้คิดดอกเบี้ยโดยนับจากวันที่โจทก์ชำระจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ในส่วนวันเริ่มนับดอกเบี้ยยังไม่ได้ระบุวันที่ให้ชัดเจน และในส่วนดอกเบี้ยที่ให้นับจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเสร็จสิ้น ไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1 วรรคสอง ที่ระบุว่า “การคิดดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ให้คิดจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน…” จึงเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจนและถูกต้องเป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2556 จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีอากร ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.12-04130010-25550831-001-00007 และให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2556 จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีอากร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share