คำวินิจฉัยที่ 73/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีพิพาทระหว่างเอกชนกับกรมที่ดินที่มีประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง โจทก์กล่าวอ้าง แต่เพียงว่าจำเลยออก น.ส. ๓ ก. โดยผิดพลาด ทับซ้อนกับที่ดินมีโฉนดของบุคคลภายนอก ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งยังกล่าวอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๙๐๐/๒๕๕๖ ที่พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินที่ทับซ้อนกันว่าข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าที่ดิน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ทับซ้อนกับที่ดินมีโฉนดของผู้มีชื่อ ส่วนจำเลยให้การโดยสรุปว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องคดีโดยมุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินว่าที่ดิน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นของโจทก์ และมิใช่กรณีที่คู่ความยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ดังนั้น เมื่อการออก น.ส. ๓ ก. ของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดให้อำนาจไว้ และการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๓/๒๕๕๘

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายไพศาล เชี่ยวชาญเวช โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑๗/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๖๙๗ ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๑ งาน ๖๖ ตารางวา และที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๒๑ ตำบลตาสัง อำเภอ บรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๔ ตารางวา โดยรับมรดกมาจากนางสงวนศรี วงษ์สุนทร แต่เมื่อปี ๒๕๕๓ โจทก์ได้ถูกนางสุทิน กิ่งสายหยุด ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครสวรรค์ ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ โดยอ้างว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ออกทับซ้อนกับที่ดินของนางสุทิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๒๗๙ ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยได้เบิกความเป็นพยานในศาลว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๘๗ ของโจทก์ และ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๘ (ที่ต่อมาได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน เลขที่ ๒๔๒๗๙) เป็นที่ดินที่มีอยู่จริงและไม่ทับซ้อนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ที่ดินสองแปลงจะทับซ้อนกันจนเป็นเหตุให้ที่ดินอีกแปลงหนึ่งต้องสูญหายไปหมดทั้งแปลง แต่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๙๐๐/๒๕๕๖ ให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทที่ทับซ้อนกัน ซึ่งถือเป็นข้อเท็จจริงอันยุติได้ว่าที่ดิน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ทับซ้อนกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๒๗๙ ของนางสุทิน การที่จำเลยออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยผิดพลาด เป็นเหตุให้นางสงวนศรี เจ้าของที่ดินเดิม หลงเชื่อว่ามีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้จริงจึงตัดสินใจซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ ซึ่งจำเลยคงจะดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวต่อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดต่อนางสงวนศรีและโจทก์ผู้ได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดิน ค่าพัฒนาและดูแลรักษาที่ดิน ค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดินและมูลค่าเพิ่มของที่ดินรวมเป็นเงิน ๑,๔๙๗,๒๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายใดๆ และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นค่าเสียหายที่โจทก์คาดหมายไว้ล่วงหน้าหรือเกิดจากความเชื่อของโจทก์เองว่า หากเอกสารสิทธิในที่ดินของโจทก์ต้องถูกยกเลิกหรือเพิกถอนไปจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งที่ปัจจุบันจำเลยก็ยังมิได้กระทำการเพิกถอนหรือแก้ไขที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ และ ๑๙๒๑ เนื่องจากมีการคัดค้านการรังวัดกันอยู่ จำเลยจึงยังมิได้กระทำการใดๆ อันเป็นละเมิดต่อโจทก์ คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาบรรพตพิสัย มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๒๗๙ แม้คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินอันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินในส่วนที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์เป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและขณะยื่นฟ้องคดี กฎหมายกำหนดให้จำเลยมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันเป็นคำสั่งทางปกครอง โจทก์ฟ้องว่าการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ เป็นการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๔๒๗๙ ของนางสุทิน กิ่งสายหยุด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่เกิดจากการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และกรณีนี้ถึงแม้จะได้เคยมีการฟ้องคดีและได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๑๐๙๐๐/๒๕๕๖ ได้วินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๒๗๙ ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และนางสุทินเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เฉพาะประเด็นข้อหาเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นข้อหาอีกข้อหาหนึ่งต่างหากแยกออกจากคดีที่เคยมีการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแล้ว คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า การออก น.ส. ก. เลขที่ ๖๘๗ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างและโต้แย้งกันสรุปได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๖๙๗ โดยรับมรดกมาจากนางสงวนศรี วงษ์สุนทร แต่เมื่อปี ๒๕๕๓ โจทก์ได้ถูกนางสุทิน กิ่งสายหยุด ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ โดยอ้างว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ออกทับซ้อนกับที่ดินของนางสุทิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๒๗๙ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๙๐๐/๒๕๕๖ ให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทที่ทับซ้อนกัน การที่จำเลยออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ โดยผิดพลาดจึงเป็นละเมิดต่อนางสงวนศรีและโจทก์ผู้ได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัจจุบันจำเลยยังมิได้กระทำการเพิกถอนหรือแก้ไขที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ และ เลขที่ ๑๙๒๑ เนื่องจากมีการคัดค้านการรังวัดกันอยู่ จำเลยจึงยังมิได้กระทำการใดๆ อันเป็นละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง โจทก์กล่าวอ้าง แต่เพียงว่าจำเลยออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ โดยผิดพลาด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดิน ค่าพัฒนาและดูแลรักษาที่ดิน ค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดินและมูลค่าเพิ่มของที่ดิน ทั้งยังกล่าวอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๙๐๐/๒๕๕๖ ที่พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทที่ทับซ้อนกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติได้ว่าที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ ของโจทก์ทับซ้อนกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๒๗๙ ของนางสุทิน ส่วนจำเลยก็ให้การโดยสรุปว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องคดีโดยมุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินว่าที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๙๗ เป็นของโจทก์ และมิใช่กรณีที่คู่ความยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ดังนั้น เมื่อการออก น.ส. ๓ ก. ของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดให้อำนาจไว้ และการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายไพศาล เชี่ยวชาญเวช โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share