แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเอาความเท็จมาฟ้องในคดีแพ่งหรือการที่จำเลยในคดีแพ่งยื่นคำให้การเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เพราะมิได้เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน และการที่โจทก์หรือจำเลยในคดีแพ่งแถลงให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสำนวนคดีแพ่งโดยมิได้มีวัตถุประสงค์จะใช้ข้อความนั้นเป็นพยานหลักฐาน ก็หาเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 4 สมคบกันกระทำผิดอาญาต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นฟ้องขับไล่จำเลยที่ 4 ในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 4 ออกจากที่ดินพิพาทโดยให้รื้อถอนบ้านเลขที่ 205 ซึ่งเป็นของโจทก์ (นายประทิน)ออกไปจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 4 ให้การรับตามฟ้อง ต่อมาจำเลยทั้ง 4 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยที่ 4 และบริวารยอมรื้อถอนบ้านเลขที่ 205 ออกจากที่พิพาท ศาลพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยที่ 4 แถลงต่อศาลและศาลจดว่า โจทก์อยู่ในบ้านดังกล่าวโดยอาศัยจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จึงยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับโจทก์มาบังคับตามคำพิพากษา คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของจำเลยล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะบ้านเลขที่ 205 เป็นของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายต้องถูกขังเรือนจำ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 84, 137 และ 267
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่บรรยายมาในฟ้องไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงไม่ประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามฟ้อง และในกรณีเช่นนี้ ควรพิพากษายกฟ้อง มิใช่สั่งไม่ประทับฟ้องแต่ในเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องความกับการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเป็นการกระทำคนละประเภท การฟ้องความเป็นวิธีดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความ ไม่ใช่เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 คำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลก็เป็นวิธีดำเนินการตามกระบวนพิจารณาความเช่นกัน หาใช่เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานไม่ ส่วนที่โจทก์หรือจำเลยในคดีแพ่งแถลงให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จในรายงานพิจารณานั้น จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 ผู้ที่แจ้งให้เจ้าพนักงานทำเช่นนั้น ต้องมีวัตถุที่ประสงค์จะใช้เป็นพยานหลักฐานแต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยแถลงต่อศาลในการดำเนินคดีเพื่อให้ศาลจับกุมโจทก์ซึ่งเป็นบริวารจำเลยที่ 4มาปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่ศาลจดถ้อยคำแถลงไว้ในรายงานพิจารณานั้น หาใช่เป็นเอกสารที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานตามความหมายแห่งมาตรานี้ไม่ เป็นแต่เพียงคำกล่าวอ้างซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะคัดค้านได้
พิพากษายืน