แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์แสดงความประสงค์ไว้ล่วงหน้าให้นายจ้างโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างในปีภาษี 2549 ให้แก่ เด็กชาย จ. บุตรของโจทก์โดยตรง ก็ต้องถือว่าโจทก์มีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เพราะโจทก์ย่อมต้องได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวมาก่อนแล้วจึงนำมาโอนให้แก่บุตรของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าตอบแทนจากการทำงานดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงิน 11,804.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ขอคืนภาษี (วันที่ 19 มีนาคม 2550) จนกว่าจะชำระครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนด ค่าทนายความ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2549 (ภ.ง.ด. 91)แสดงเงินได้เท่ากับ 0 และแสดงความประสงค์จะขอคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน 11,804.61 บาท โดยได้แนบหนังสือชี้แจงว่า ตามที่ในปีภาษี 2549 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในฐานะนายจ้าง ได้จ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานของโจทก์ในฐานะลูกจ้างเป็นเงิน 679,420 บาท โดยได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นเงิน 11,804.61 บาท นั้น โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างค่าตอบแทนทั้งปวงซึ่งได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปให้แก่เด็กชายจิตรภณ บุตรของโจทก์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้จ่ายเงินให้แก่เด็กชายจิตรภณ บุตรของโจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) ให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่ม 38,608.15 บาท และเงินเพิ่ม 1,737.36 บาท รวม 40,345 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ในปีภาษี 2549 โจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างค่าตอบแทนทั้งปวงซึ่งจะได้รับหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปให้แก่เด็กชายจิตรภณบุตรโจทก์ไปโดยสมบูรณ์แล้ว โจทก์ไม่เคยได้รับเงินจากนายจ้างย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์และให้จำเลยคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โจทก์ย่อมได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นนายจ้างและโจทก์เองก็มีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง การที่โจทก์ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนทั้งปวงและนำมาโอนให้แก่เด็กชายจิตรภณ บุตรโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่านั้น ก็เนื่องมาจากโจทก์ได้ทำงานตอบแทนให้แก่นายจ้าง การโอนดังกล่าวก็เป็นเพียงการโอนเงินที่โจทก์ได้รับเป็นค่าจ้างทั้งปวง แต่ในส่วนของหน้าที่ของลูกจ้างโจทก์ ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้างอยู่ เด็กชายจิตรภณ บุตรโจทก์ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวและหากโจทก์ไม่ทำงานให้แก่นายจ้างโจทก์ย่อมไม่ได้รับเงินค่าจ้างและไม่มีเงินค่าตอบแทนใด ๆ ที่จะนำไปโอนให้แก่เด็กชายจิตรภณ บุตรโจทก์ได้ โจทก์จึงต้องได้รับเงินดังกล่าวมาก่อน แล้วจึงนำมาโอนให้แก่บุตรโจทก์ได้ ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างทั้งปวงมาจากนายจ้าง แล้วนำไปมอบให้แก่บุตรโจทก์อีกทอดหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์ได้ค่าจ้างค่าตอบแทนดังกล่าวมาในปี 2549 เป็นเงิน 679,420 บาท เนื่องจากการที่โจทก์เป็นลูกจ้างตอบแทนด้วยการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะจ่ายเงินให้แก่โจทก์หรือจะจ่ายเงินให้แก่เด็กชายจิตรภณบุตรโจทก์หรือไม่ ต้องถือว่าโจทก์มีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าตอบแทนจากการทำงานไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและไม่มีสิทธิขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2549 (ภ.ง.ด. 91) แสดงเงินได้เท่ากับ 0 และแสดงความประสงค์จะขอคืนเงินภาษีเป็นเงิน 11,804.61 บาท จึงเป็นการไม่ถูกต้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้นำเงินค่าจ้างค่าตอบแทน มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2549 และให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ