แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2528 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยกำหนดให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน โจทก์จึง เป็นลูกจ้างประจำที่นายจ้างให้ทดลองปฏิบัติงานตามประกาศกระทรวงทหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม การนับระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ต้องนับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยบรรจุโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างกรณีเช่นนี้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงานขับรถ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๘ โดยจำเลยได้ให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานไม่เกิน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๘ เหตุที่เลิกจ้างเนื่องจากระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยนั้น โจทก์ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงและเป็นที่หวาดเสียว ไม่ชะลอความเร็วตามทางแยก ชอบหยุดรถยนต์อย่างกะทันหันจนเกือบเกิดอันตรายหลายครั้ง และแล่นตามคันหน้าในระยะกระชั้นชิด แม้ได้มีการตักเตือนจากพนักงานผู้ใช้รถยนต์ โจทก์ก็มิได้เชื่อฟังการปฏิบัติงานของโจทก์จึงไม่เป็นที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ผลงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๘ จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยกำหนดให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นเวลาไม่เกิน ๙๐ วัน โจทก์จึงเป็นลูกจ้างประจำที่นายจ้างให้ทดลองปฏิบัติงานตามข้อ ๔๖ วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน การนับระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานของโจทก์จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๘ เป็นต้นไป หาใช่ต้องนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยบรรจุโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานเช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย
พิพากษายืน