แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตามสัญญาจ้างสี่ฉบับ กำหนดระยะเวลาจ้างและวันเริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 75 จะกำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญาจ้างฉบับที่สี่ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามวรรคท้ายของข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนและได้เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนมีได้เฉพาะ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวไม่อาจกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานฟังข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตามสัญญาจ้างรวม ๔ ฉบับ แต่ละฉบับกำหนดระยะเวลาไว้ และโจทก์ได้ทำงานติดต่อกันตลอดมารวม ๒ ปี แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาจ้างทั้งสี่ฉบับที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ ได้กำหนดระยะเวลาจ้างและได้กำหนดวันเริ่มต้นแห่งสัญญาไว้ด้วย โดยเฉพาะสัญญาฉบับที่สองและฉบับที่สี่นอกจากจะได้กำหนดระยะเวลาจ้างแล้ว ยังได้กำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของสัญญาไว้ด้วยสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๗๕ กำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญาจ้าง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามวรรคท้ายของข้อ ๔๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์