คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4539/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเป็นเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เปิดไว้กับโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จะถอนเงินกู้จากบัญชีเงินฝากดังกล่าววันใดก็ได้ จำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน โดยจำเลยที่ 1 จะใช้สมุดบัญชีเงินฝากในการถอนเงินหรือใช้บัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติก็ได้ จำเลยที่ 1 มีเงินเดือนเข้าฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวทุกเดือน เมื่อมีเงินเดือนเข้าฝาก โจทก์จะหักกลบกับเงินที่จำเลยที่ 1 ถอนไป หากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือน ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ไม่ใช่กรณีโจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 ภายหลัง แต่เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 57,848.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน 27,918.65 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 28,464.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน 27,918.65 บาท นับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปไม่เกินห้าปี และนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ร่วมกันรับผิดเพียงเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามบัตรบัญชี รายการถอนเงินเมื่อวันที่ 1 และ 3 มีนาคม 2537 วันละ 1 รายการ รายการละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000 บาทหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์นั้น โจทก์มีนายรักษพร เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ถอนเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยใช้บัตรกรุงไทยเอทีเอ็มและถอนที่เคาน์เตอร์เรื่อยมา ถอนครั้งสุดท้ายวันที่ 11 มีนาคม 2537 จำนวน 2,000 บาท นายรักษพรเป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์ สาขาราชเทวี ที่จำเลยที่ 1 มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อยู่ ย่อมรู้เห็นเกี่ยวกับบัญชีของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาราชเทวี ทั้งมีบัตรบัญชีซึ่งมีรายการถอนเงินเมื่อวันที่ 1 และ 3 มีนาคม 2537 วันละ 1 รายการ รายการละ 10,000 บาท เป็นหลักฐานมาแสดงต่อศาล พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีแต่จำเลยที่ 1 เพียงปากเดียวมาเบิกความตามที่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยทั้งสองข้างต้น เป็นแต่คำเบิกความลอย ๆ และไม่ประกอบด้วยเหตุผลที่ดี กล่าวคือ ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 แจ้งต่อพนักงานของโจทก์ สาขาราชเทวี ว่าจำเลยที่ 1 ทำรายการถอนเงินในวันดังกล่าววันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท แต่ไม่ได้รับเงิน พนักงานตรวจสอบให้ ระหว่างระยะเวลาที่พนักงานตรวจสอบอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ใช้บัตรกรุงไทยเอทีเอ็มถอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มอีก 3 วัน เมื่อวันที่ 5, 10 และ 11 มีนาคม 2537 จำนวน 3,000 บาท,5,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 10,000 บาท ก็ถอนได้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินและได้รับใบบันทึกรายการด้วยนั้น เห็นได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบบันทึกรายการวันที่ 5 มีนาคม 2537 ซึ่งย่อมบันทึกว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 20,918.65 บาท จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ตั้งแต่ขณะได้รับใบบันทึกรายการนั้นแล้วว่าโจทก์ได้บันทึกรายการว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จากการถอนเงิน 20,000 บาท ดังกล่าวเข้าด้วยแล้ว แทนที่จำเลยที่ 1 จะทักท้วงให้เป็นกิจจะลักษณะสมกับอาชีพของจำเลยที่ 1 และหยุดถอนเงินแล้วตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน แต่จำเลยที่ 1 ยังคงเดินหน้าถอนเงินต่อไปในวันที่ 10 มีนาคม 2537 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมได้รับใบบันทึกรายการที่บันทึกว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 25,918.65 บาท ตามบัตรบัญชี จำเลยที่ 1 ยิ่งรู้โดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ได้บันทึกรายการว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จากการถอนเงิน 20,000 บาท ดังกล่าวเข้าด้วยแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงถอนเงินต่อไปอีกในวันที่ 11 มีนาคม 2537 จำนวน 2,000 บาท การถอนเงินในวันที่ 11 มีนาคม 2537 เป็นพิรุธอย่างยิ่ง เพราะหลังจากถอนแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 27,918.65 บาท เกือบครบวงเงินที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม 28,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ถอนเงินให้เต็มหรือเกือบเต็มวงเงินที่โจทก์ให้กู้ก่อนที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้พนักงานของบริษัทสำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด งดโอนเงินเดือนของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 อีก พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ไม่ประกอบชอบด้วยเหตุผลที่จะให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงิน 20,000 บาท ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์ก็เป็นการทำหนังสือแจ้งไปหลังจากทางโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แล้ว มีน้ำหนักแก่การรับฟังน้อยมาก ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองและรับฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามบัตรบัญชี รายการถอนเมื่อวันที่ 1 และ 3 มีนาคม 2537 วันละ 1 รายการ รายการละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000 บาท ครบถ้วนแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อมาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า กรณีของจำเลยที่ 1 มีลักษณะที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 ภายหลังมีอายุความ 2 ปี นั้น ปรากฏว่าตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเป็นเรื่องโจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 28,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เปิดไว้กับโจทก์ สาขาราชเทวี โดยจำเลยที่ 1 ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกเดือนติดต่อกันภายในวันสิ้นสุดของเดือน จำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญา จำเลยที่ 1 จะถอนเงินกู้วันใดก็ได้ จำนวนเท่าใดก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 28,000 บาท จำเลยที่ 1 มีเงินเดือนเข้าฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวทุกเดือน เมื่อมีเงินเดือนเข้าฝากและหักกลบกับที่จำเลยที่ 1 ถอนไป ถ้าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือน เห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีโจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 ภายหลังดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา แต่ข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏในลักษณะนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมา ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่า ต้องกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ใหม่หรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ 6,000 บาท เกินกว่าอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 เดิม ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นการไม่ถูกต้อง ต้องกำหนดให้ใหม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ส่วนค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ 6,000 บาท นั้น ให้ใช้แทนเพียง 1,400 บาท

Share