แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ยื่นเรื่องราวใส่ความเจ้าพนักงานหาว่ากระทำรายงานเท็จต่อสภาผู้แทนราษฎร ฯ จึงส่งเรื่องราวต่อ ๆ ไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อทำการสอบสวน ปรากฎว่าไม่เป็นความจริงดังกล่าวหา ดังนี้ถือว่าได้กล่าวแก่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่ไม่เป็นผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะผู้แทนราษฎรไม่มีหน้าที่ทางบริหาร ไม่ใช่เจ้าพนักงาน ศาลอุทธรณ์ +ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย 1 เดือน ปรับ 100 บาทตาม ม.284 แต่โทษจำให้รอไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีผิดตาม ม.118 ให้จำคุก 1 เดือนดังนี้เป็นแก้มาก ประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.42 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ม. 286 พิจารณาได้ความว่าจำเลยมีผิดตาม 284 ศาลลงโทษตาม มาตรานี้ได้ ศาลเดิมลงโทษตาม ม.284 โจทก์ไม่อุทธรณ์ในเรื่องวางบท ศาลอุทธรณ์แก้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 118 จำเลยฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 284 ก็ย่อมลงโทษจำเลยตาม ม.284 ได้
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นผู้แทนตำบลได้ยินเรื่องราวกล่าวหาโจทก์ซึ่งเป็นกำนันต่อสภาผู้แทนราษฎร หาว่าโจทก์ได้รับแจ้งความคดีอาญาแล้วปิดบังไม่รายงานต่อกรมการอำเภอ แลว่าโจทก์เข้าหุ้นส่วนตั้งบอนเล่นการพะนัน สมคบกับพวกตัดไม้ประเภทหวงห้ามกับว่าโจทก์รายงานเท็จต่ออำเภอซึ่งเป็นความเท็จโดยปรากฎว่าทางการได้จัดการสอบสวนแล้วไม่เป็นความจริง
ศาลชั้นต้นตัดสินว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แลจำเลยพิสูจน์ความจริงไม่ได้ พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ เดือนปรับ ๑๐๐ บาท แต่ให้รอการลงอาญาไว้ คงปรับสถานเดียว
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ยังไม่ถนัด เพราะจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวที่จะขอให้เปลี่ยนกำนัน แต่จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ม.๑๑๘ พิพากษาให้จำคุกจำเลย ๑ เดือน
จำเลยฎีกาว่าไม่ควรมีผิดตาม ม.๑๑๘ เพราะผู้แทนราษฎรมิได้เป็นเจ้าพนักงานแลว่าไม่ควรมีผิดตามมาตรา ๒๘๒-๒๘๔ เพราะโจทก์ไม่ได้ใส่ความโจทก์ต่อสาธารณชน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามมาตรา ๑๑๘ ต้องเป็นเรื่องเอาความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน เห็นว่าผู้แทนราษฎรมิได้เป็นเจ้าพนักงานเพราะไม่มีหน้าที่ทางฝ่ายบริหาร แต่เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๒๘๔ โดยจำเลยไม่มีสิทธิที่จะใส่ความโจทก์ แลเรื่องราวที่จำเลยส่งไปสภาผู้แทนราษฎร ๆ ก็ได้จัดส่งไปยังเลขานุการนายกรัฐมนตรี ๆ ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย จนเกิดมีการสอบสวนกันขึ้นซึ่งมิได้ความสมจริง ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กล่าวต่อบุคคลนับแต่ ๒ คนขึ้นไป จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น