แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อย่างไรไม่เรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาทศาลหรือผู้พิพากษา ยื่นคำร้องต่อข้าหลวงยุตติธรรมว่าผู้พิพากษาว่าจดคำพะยานผิดพลาด นั่งพิจารณาไม่ครบคณะ ถ้าจะให้พิจารณาต่อไปจะทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรมดังนี้ ไม่เรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาทศาลหรือผู้พิพากษา ไม่มีผิดตามกฎหมายข้างบน พระธรรมนูญศาลยุตติธรรม ร.ศ. 127 ม.35 ข้อ 3 อำนาจอัยยการ ฎีกาอุทธรณ์ คดีที่ศาลเดิมให้ลงโทษผู้ที่มิใช่คู่ความฐานหมิ่นประมาทศาลเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลเดิม อัยยการมีอำนาจเข้าเป็นโจทก์ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาได้
ย่อยาว
คดีได้ความว่า จำเลยในคดีนี้เป็นทนายว่าความต่างนางกุยซึ่งได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยยการในคดีที่ฟ้องนายอ้ายุหาว่าวางเพลิงเผาทรัพย์นางกุยเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ภายหลังที่ศาลจังหวัดลำพูนได้สืบพะยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อข้าหลวงยุตติธรรม ณ ศาล จังหวัดลำพูน ใจความว่า หลวงวุฒิธรฯ ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณา-ดคีนี้จดคำพยานผิดพลาด นั่งพิจารณาผู้เดียวไม่ครบคณะ ถ้าจะให้พิจารณาคดีต่อไปอาจจะทำให้คดีของโจทก์ไม่ได้รับความยุติธรรม ขอให้โอนคดีไปชำระที่อื่นหรือให้ส่งผู้พิพากษามาพิจารณาที่ศาลนี้ ศาลจังหวัดลำพูนให้จำเลยอธิบายไม่ได้ในชั้นนี้ ศาลจังหวัดลำพูนจึงสั่งไม่รับคำร้อง ต่อมาวันที่ ๖ กันยายน ศาลได้เรียกตัวจำเลยมาแลว่าข้อความในคำร้องเป็นการเสียดสีทำให้คนลบหลู่ดูหมิ่นโรงศาลหรือผู้พิพากษาได้ ครั้นแล้วจึงทำคำสั่งลงวันที่ ๒๔ เดือนเดียวกันให้จำคุกจำเลย ๘ เดือนฐานะละเมิดอำนาจศาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.๑๒๗ ม.๑๓๖-๑๓๗
ศาลอุทธรณ์พิพากษา-ยกฟ้อง
อัยยการสอดเข้ามาเป็นโจทก์ทูลเกล้าถวายฎีกา แลจำเลยค้านว่าอัยยการเข้ามาดำเนินคดีเช่นนี้ไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ. ๑๒๗ ม. ๓๕ ข้อ ๓ อัยยการมีหน้าที่เป็นโจทก์ในคดีอาญา ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นในชั้นศาลไหน แม้ชั้นศาลฎีกาก็ย่อมมีหน้าที่รับว่าคดีได้ ส่วนข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยจะมีผิดฐานหมิ่นประมาทศาลหรือไม่นั้น เห็นว่าข้อความในคำร้องของจำเลยเป็นคำร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาของหลวงวุฒิธรฯ ในกรณีที่แสดงความเห็นคัดค้านอำนาจศาลยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทศาลหรือผู้พิพากษา แลตามพฤตติการณ์ของจำเลยที่ไปยื่นคำร้องต่อข้าหลวงยุตติธรรมแลศาลได้ตักเตือนให้ถอนคำร้องในเบื้องต้นก็ไม่ยอมเหล่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยจะมีผิดตามมาตรา ๑๓๖-๑๓๗ แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์