คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างว่าความซึ่งมีข้อความว่า ฟ้องเรียกทรัพย์สินเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านบาท ขอคิดค่าจ้างรวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท ถ้าเรียกร้องได้มากกว่านี้ก็ไม่เพิ่มขึ้นนั้น แม้จะเป็นการกำหนดค่าจ้างไว้ครึ่งหนึ่งของจำนวนทุนทรัพย์ที่จะฟ้องเรียกร้องจากจำเลยก็ตาม แต่ข้อความที่เขียนต่อไปว่า “แต่ถ้าได้น้อยกว่าที่กะประมาณไว้นี้ ให้ลดลงตามส่วนจำนวนเงินที่ได้มา” ดังนี้ เป็นการแสดงอยู่ว่า ถ้าศาลตัดสินให้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ฟ้อง ทนายก็จะเรียกค่าจ้างเอาครึ่งหนึ่งของจำนวนทุนทรัพย์ที่ศาลตัดสินให้เสมอไป จึงเป็นการทำสัญญาเรียกค่าจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่คู่ความนั่นเอง นอกจากนี้ตามพฤติการณ์ในเรื่องก็เห็นได้ชัดว่าทนายจัดทำสัญญาตลอดจนปฏิบัติต่อสู้ความ ได้กระทำไปเกินขอบเขตแห่งความเป็นธรรมอยู่มาก สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 มาตรา 12 อนุมาตรา 2 และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มารดาของจำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์กับพวกให้เป็นทนายว่าต่างในคดีแพ่งแดงที่ ๘๕๘/๒๕๐๖ ของศาลแพ่ง มารดาจำเลยยังค้างชำระค่าทนายอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาทก็ถึงแก่กรรม โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ค่าจ้างว่าความที่ยังค้างอยู่ในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทผู้รับมรดก จำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยนอกนั้นต่อสู้ความว่า มารดาจำเลยได้ชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์แล้ว เงินที่โจทก์อ้างว่าค้างอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ บาทนั้นเป็นค่าวิ่งเต้นแก่ผู้ใหญ่ในศาลแพ่ง จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาจ้างว่าความตามเอกสาร จ. ๑ เป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินอันเป็นมูลพิพาท ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๑๒ (๒) และขัดต่อความสงบ ฯ สัญญาจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในสัญญาที่ว่า “ข้าพเจ้าหม่อมเทียบ เพ็ญพัฒน์ (ม่าย) ขอว่าจ้างนายหรุ่น แขวงโสภา และนายเนื่อง สุขพูล ให้เป็นทนายว่าต่างหรือแก้ต่างในคดีที่ข้าพเจ้าเป็นโจทก์ฟ้อง ม.ร.ว. เพ็ญพิไชย เพ็ญพัฒน์ และม.ร.ว. พัฒนมหินทร์ เพ็ญพัฒน์ เรียกทรัพย์สินเป็นมูลค่าประมาณ ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยขอคิดค่าจ้างให้รวมเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐,๐๐๐๐ บาท ถ้าเรียกร้องได้มากกว่านี้ก็ไม่เพิ่มขึ้น” นั้น แม้จะเป็นการกำหนดค่าจ้างไว้ครึ่งหนึ่งของจำนวนทุนทรัพย์ที่จะฟ้องร้องเรียกจากจำเลยก็ตาม แต่ข้อความที่เขียนต่อไปว่า “แต่ถ้าได้น้อยกว่าที่กะประมาณไว้นี้ให้ลดลงตามส่วนจำนวนเงินที่ได้มา” เป็นการแสดงอยู่ว่า ถ้าศาลตัดสินให้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ฟ้อง ทนายก็จะเรียกค่าจ้างเอาครึ่งหนึ่งของจำนวนทุนทรัพย์ที่ศาลตัดสินให้เสมอไป จึงเท่ากับเป็นการทำสัญญาเรียกค่าจ้างว่าความ โดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาท อันจะพึงได้แก่ลูกความนั่นเอง นอกจากนี้ พฤติการณ์ในเรื่องก็เห็นได้ชัดว่า ทนายจัดทำสัญญาตลอดจนปฏัติต่อสู้ความได้กระทำไปเกินขอบเขตแห่งความเป็นธรรมอยู่มาก สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๑๒ อนุมาตรา ๒ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share