แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้. พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ.
โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก. และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิด. จึงบังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750. ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน.(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมโจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้จำเลยลงชื่อในโฉนดแต่ผู้เดียวแทนโจทก์เมื่อจำเลยใส่ชื่อในโฉนดแล้วจำเลยจะต้องโอนหรือใส่ชื่อโจทก์ตามส่วนที่โจทก์ได้รับมรดก ในการนี้จำเลยได้ทำหนังสือให้โจทก์ยึดไว้เป็นหลักฐาน จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยต่อสู้ว่าข้อตกลงนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจตนาจะฝ่าฝืนหลีกเลี่ยงต่อประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกข้อตกลงนั้นแล้ว จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และครอบครองแต่ผู้เดียว ทั้งคดีขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ตามส่วน สำหรับโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว ให้โจทก์จัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวนั้น ถ้าจำเลยไม่ไปจัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าว จะรับมรดกที่ดินได้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมไม่ใช่โดยพินัยกรรม พินัยกรรมส่วนที่ให้แก่โจทก์และเอกสาร จ.1 ไม่สมบูรณ์นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้ พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวมีทางขออนุญาตถือที่ดินหรือไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะคดีนี้โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิดตามเอกสารหมาย จ.1แล้ว จึงบังคับตามสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความมรดกนั้นปรากฏว่าหลังจากเจ้ามรดกตายได้สองเดือนเศษ ทายาทได้เข้าจัดการมรดกร่วมกัน โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเจียกกังรับเงินกับส่วนโรงสีอันเป็นทรัพย์มรดกจากคนภายนอก เมื่อถูกฟ้องคดีก็เข้าต่อสู้คดีร่วมกันจนกระทั่งเสร็จคดีแล้วจึงได้ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ให้จำเลยเป็นตัวแทนลงชื่อในโฉนดไว้ก่อน แล้วจำเลยจะโอนใส่ชื่อโจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมภายใน 12 เดือนเมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา หาได้ฟ้องขอแบ่งมรดกไม่ จำเลยจะอ้างเอาอายุความมรดกมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.