คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษามีกำหนดเวลา 3 ปี และจำเลยที่ 1ได้สำเร็จการศึกษาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1ไม่ไปรายงานตัวในวันที่ 1 มิถุนายน 2534 ตามที่ระบุในหนังสือส่งตัวเพราะเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งปกติผู้บริหารของโรงพยาบาลตำรวจก็ไม่ไปปฏิบัติราชการหากจำเลยที่ 1 ไปโรงพยาบาลตำรวจในวันนั้นก็คงจะไม่สามารถรายงานตัวได้เพราะไม่มีผู้บริการของโรงพยาบาลคือผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจไปปฏิบัติราชการ ทั้งไม่เคยปรากฏว่ามีข้าราชการผู้ใดไปรายงานตัวเพื่อปฏิบัติราชการในวันหยุดราชการซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดีอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวในวันที่3 มิถุนายน 2534 อันเป็นวันเริ่มเปิดทำการและเป็นโอกาสแรกที่จำเลยที่ 1 สามารถไปรายงานตัวต่อผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปรายงานตัวตามหนังสือส่งตัวแล้วโจทก์จะนับวันที่ 1 และวันที่ 2 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 รอไปรายงานตัวต่อผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ลาไปศึกษาไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้แสดงความประสงค์ขอลาออกจากราชการโดยได้ยื่นใบลาออกตามแบบหนังสือขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 แต่เป็นความล่าช้าของโจทก์เองที่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2535 และเพิ่งให้จำเลยที่ 1 ทราบในวันที่ 2 กันยายน 2535อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ยื่นใบลาออกนานถึง3 เดือนเศษ การที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 แสดงความประสงค์ขอลาออกจากราชการถึงวันที่ 2 กันยายน 2535 เพราะโจทก์ยังมิได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการได้จำเลยที่ 1 จึงยังมีหน้าที่ต้องไปปฏิบัติราชการอยู่ หากจำเลยที่ 1ไม่ไปปฏิบัติราชการตามปกติก็จะเป็นการทิ้งราชการและเป็นการขาดราชการเกิน 15 วัน อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะละเว้นไม่ปฏิบัติราชการไม่ได้จึงต้องคิดวันรับราชการของจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2535 มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบด้วยกับกระทรวงการคลังที่ให้เพิ่มเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าในการชดใช้เงินทุนหรือเงินเดือนของข้าราชการที่ผิดสัญญาลาไปศึกษาในประเทศนั้น เป็นเพียงหนังสือเวียนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่เห็นสมควรกำหนดให้ข้าราชการที่ได้รับทุนและได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาภายในประเทศทำสัญญารับราชการชดใช้ทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนและในกรณีที่ผิดสัญญาเนื่องจากรับราชการไม่ครบตามที่กำหนดไว้ให้มีการชดใช้คืนเงินทุนหรือเงินเดือนรวมทั้งเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าตามหนังสือเวียนดังกล่าวจึงมีความหมายว่า ในการที่หน่วยราชการทำสัญญากับข้าราชการซึ่งได้รับทุนและได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาภายในประเทศจะต้องกำหนดให้มีการชดใช้เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของทุนหรือเงินเดือนที่ได้รับในกรณีที่รับราชการไม่ครบตามที่กำหนดไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องวางระเบียบข้อบังคับ หรือมีคำสั่งให้มีการปฏิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าว หากโจทก์ไม่ได้วางระเบียบ ข้อบังคับ หรือมีคำสั่งดังกล่าว โจทก์ก็จะต้องระบุในสัญญาลาไปศึกษาในสถานศึกษาในต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าไว้ด้วยเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้วางระเบียบ ข้อบังคับ หรือมีคำสั่งให้มีการปฏิบัติตาม หนังสือเวียนดังกล่าว จะถือว่าหนังสือเวียนดังกล่าวนั้น เป็นระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของโจทก์ไม่ได้การที่ในสัญญาลาไปศึกษาในสถานศึกษาในต่างประเทศไม่มีข้อความกำหนดเกี่ยวกับเรื่องเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าจึงเป็นข้อบกพร่องของโจทก์ในการทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าได้ การที่จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน 196,788 บาท ซึ่งมากกว่า จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดไปชำระให้แก่โจทก์ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 นั้น โจทก์ได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว แม้จะไม่ได้ความว่าโจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อใด แต่โจทก์ก็ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้พร้อมเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าเป็นเงิน393,879.50 บาท ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2536 โดยหนังสือทวงถามลงวันที่ 26 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1นำเงินไปชำระให้โจทก์ดังกล่าวข้างต้น 9 เดือนเศษ จึงน่าเชื่อว่าขณะที่โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินคืนจากโจทก์แล้ว และก่อนฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ของโจทก์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 ได้ชำระหนี้หรือเสนอคำขอชำระหนี้แก่โจทก์อีก จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่16 มิถุนายน 2536 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาลาไปศึกษาในสถานศึกษาในต่างประเทศกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันแล้วจำเลยทั้งสองผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 450,695.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 393,879.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ลาศึกษาเพียงวันที่ 1มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 เป็นเวลารวม 3 ปีมิใช่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2534 อันเป็นเวลา 3 ปี 2 วัน ตามฟ้องระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญาจึงเท่ากับ 6 ปี หรือ 2,190 วัน และภายหลังจบการศึกษาจำเลยที่ 1 ได้กลับเข้าปฏิบัติราชการชดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2535เป็นเวลา 458 วันคงเหลือเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติราชการชดใช้ 1,732 วัน มิใช่ 1,795 วัน ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์เพียง 189,986.16 บาท มิใช่ 196,939.75 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีกหนึ่งเท่า ทั้งนี้เพราะตามสัญญามิได้กำหนดไว้ โจทก์ไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ตุลาคม 2516 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1เคยนำเงินจำนวน 196,939.75 บาท ไปชำระให้โจทก์ซึ่งโจทก์ได้รับไว้แล้วส่งคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังจำเลยที่ 1จึงมิใช่ผู้ผิดนัด อย่างไรก็ดี หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก็จะต้องรับผิดเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน189,986.16 บาท นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2535 เป็นต้นไปส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาแต่ละฉบับมีกำหนดเวลาฉบับละ 1 ปี ซึ่งเมื่อคิดเวลาที่จำเลยที่ 1ลาไปศึกษาต่อตามสัญญาแต่ละฉบับแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4จะต้องรับผิดเพียงคนละ 63,328.72 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน189,986.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีหนังสือส่งตัวจำเลยที่ 1 กลับเข้าปฏิบัติงานกับโจทก์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2534 แม้ว่าวันที่ 1 และวันที่ 2มิถุนายน 2534 จะเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการโรงพยาบาลตำรวจก็มีเจ้าหน้าที่อยู่เวรปฏิบัติราชการในวันเสาร์และวันอาทิตย์ จำเลยที่ 1 สามารถนำหนังสือส่งตัวไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าปฏิบัติราชการในวันที่ 1 มิถุนายน 2534ได้ แต่จำเลยที่ 1 กลับไปรายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2534จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เริ่มกลับมาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2534 จึงต้องคิดเวลาลาไปศึกษาของจำเลยที่ 1ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2534 เป็นเวลา 3 ปี 2 วันนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษามีกำหนดเวลา 3 ปี และจำเลยที่ 1 ได้สำเร็จการศึกษาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ไปรายงานตัวในวันที่ 1 มิถุนายน 2534ตามที่ระบุในหนังสือส่งตัวตามเอกสารหมาย ล.6/1 เพราะเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งปกติผู้บริหารของโรงพยาบาลตำรวจก็ไม่ไปปฏิบัติราชการ หากจำเลยที่ 1 ไปโรงพยาบาลตำรวจในวันนั้นก็คงจะไม่สามารถรายงานตัวได้เพราะไม่มีผู้บริหารของโรงพยาบาลคือผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจไปปฏิบัติราชการทั้งไม่เคยปรากฏว่ามีข้าราชการผู้ใดไปรายงานตัวเพื่อปฏิบัติราชการในวันหยุดราชการซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดีอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2534 อันเป็นวันเริ่มเปิดทำการและเป็นโอกาสแรกที่จำเลยที่ 1 สามารถไปรายงานตัวต่อผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปรายงานตัวตามหนังสือส่งตัวเอกสารหมาย ล.6/1 แล้ว โจทก์จะนับวันที่1 และวันที่ 2 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1รอไปรายงานตัวต่อผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ลาไปศึกษาไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองคำนวณวันลาไปศึกษาของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี จึงถูกต้องแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 และโจทก์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่28 สิงหาคม 2535 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการได้โดยระบุให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2535แม้โจทก์จะไปปฏิบัติราชการจนถึงวันที่ 2 กันยายน 2535 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวก็ต้องถือว่าการลาออกของจำเลยที่ 1 มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535ตามที่จำเลยที่ 1 ได้แสดงความประสงค์ไว้นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1ได้แสดงความประสงค์ขอลาออกจากราชการโดยได้ยื่นใบลาออกตามแบบหนังสือขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2535ตามเอกสารหมาย จ.13 แต่เป็นความล่าช้าของโจทก์เองที่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2535และเพิ่งให้จำเลยที่ 1 ทราบในวันที่ 2 กันยายน 2535 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ยื่นใบลาออกนานถึง 3 เดือนเศษการที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 แสดงความประสงค์ขอลาออกจากราชการถึงวันที่ 2 กันยายน 2535 เพราะโจทก์ยังมิได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการได้ จำเลยที่ 1 จึงยังมีหน้าที่ต้องไปปฏิบัติราชการอยู่ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปปฏิบัติราชการตามปกติก็จะเป็นการทิ้งราชการและเป็นการขาดราชการเกิน15 วัน อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะละเว้นไม่ปฏิบัติราชการไม่ได้จึงต้องคิดวันรับราชการของจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2535
ที่โจทก์ฎีกาว่า มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือเวียนเอกสารหมาย จ.16 ที่เห็นชอบด้วยกับกระทรวงการคลังที่ให้เพิ่มเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าในการชดใช้เงินทุนหรือเงินเดือนของข้าราชการที่ผิดสัญญาลาไปศึกษาในประเทศนั้น เป็นระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งที่โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของโจทก์ที่ได้กำหนดหรือสั่งการเกี่ยวกับการควบคุมผู้ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาที่ออกใช้อยู่ก่อนแล้วในวันที่ลงนามในสัญญาตามข้อ 1 ของสัญญาเอกสารหมาย จ.2 จ.5 และ จ.8 ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย โจทก์ไม่ต้องออกระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ระบุเกี่ยวกับเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าไว้ในสัญญาอีก จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าแก่โจทก์นั้นเห็นว่า เอกสารหมาย จ.16 เป็นเพียงหนังสือเวียนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่เห็นสมควรกำหนดให้ข้าราชการที่ได้รับทุนและได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาภายในประเทศทำสัญญารับราชการชดใช้ทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนและในกรณีที่ผิดสัญญาเนื่องจากรับราชการไม่ครบตามที่กำหนดไว้ ให้มีการชดใช้คืนเงินทุนหรือเงินเดือนรวมทั้งเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่า ตามหนังสือเวียนเอกสารหมาย จ.16 จึงมีความหมายว่า ในการที่หน่วยราชการทำสัญญากับข้าราชการซึ่งได้รับทุนและได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาภายในประเทศจะต้องกำหนดให้มีการชดใช้เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของทุนหรือเงินเดือนที่ได้รับในกรณีที่รับราชการไม่ครบตามที่กำหนดไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องวางระเบียบข้อบังคับ หรือมีคำสั่งให้มีการปฏิบัติตามหนังสือเวียนเอกสารหมายจ.16 หากโจทก์ไม่ได้วางระเบียบ ข้อบังคับ หรือมีคำสั่งดังกล่าวโจทก์ก็จะต้องระบุในสัญญาเอกสารหมาย จ.2 จ.5 และ จ.8 เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าไว้ด้วยเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้วางระเบียบ ข้อบังคับ หรือมีคำสั่งให้มีการปฏิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าว จะถือว่าหนังสือเวียนเอกสารหมาย จ.16 เป็นระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของโจทก์ได้อย่างไร การที่ในสัญญาเอกสารหมายจ.2 จ.5 และ จ.8 ไม่มีข้อความกำหนดเกี่ยวกับเรื่องเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าจึงเป็นข้อบกพร่องของโจทก์ในการทำสัญญากับจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าได้
ที่โจทก์ฎีกาขอให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535เพราะโจทก์ได้คืนเงินจำนวน 196,939.75 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1ไปแล้วเนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าด้วยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน196,788 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดไปชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 ก็ปรากฏตามคำเบิกความของพันตำรวจโทจิระศักดิ์ มีสัทธรรม พยานโจทก์ว่าโจทก์ได้คืนเงินนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว แม้จะไม่ได้ความว่าโจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อใด แต่โจทก์ก็ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้พร้อมเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าเป็นเงิน 393,879.50 บาท ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2536ตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระให้โจทก์ดังกล่าวข้างต้น 9 เดือนเศษจึงน่าเชื่อว่าขณะที่โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินคืนจากโจทก์แล้วและก่อนฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ของโจทก์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 ตามสำเนาใบตอบรับท้ายเอกสารหมาย จ.17 ได้ชำระหนี้หรือเสนอคำขอชำระหนี้แก่โจทก์อีก จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่16 มิถุนายน 2536 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน2536 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share