แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 30 ได้บัญญัติถึงการบังคับให้ใช้สินบนนำจับไว้เป็นพิเศษแตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489
คำขอให้จ่ายค่าสินบนนำจับตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจจะขอแทนได้ เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 ไม่ได้ระบุอำนาจไว้
ย่อยาว
คดีนี้ จำเลยรับสารภาพตามฟ้องว่า ไม่ทำป้ายแสดงราคาไข่เป็ดจืดไว้ในที่เปิดเผยอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 8, 17 กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 ปรับ 100 บาท ส่วนที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าสินบนแก่ผู้นำจับไม่บังคับ เพราะโจทก์ไม่ได้เสียค่าธรรมเนียม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 บัญญัติให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่ความผิดซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรด้วย และมาตรา 9 บัญญัติให้พนักงานอัยการร้องต่อศาลให้จ่ายสินบนหรือรางวัล แต่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 30 ได้บัญญัติถึงการบังคับให้ใช้เงินสินบนนำจับไว้เป็นพิเศษ แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด โจทก์จึงจะอ้างอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนั้นมาบังคับคดีไม่ได้ และเมื่อพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้มิได้ระบุให้อำนาจโจทก์ไว้ โจทก์ก็ไม่มีทางขอแทนได้เพราะโจทก์หรือรัฐบาลไม่มีสิทธิในเงินสินบนนั้น
พิพากษายืน