คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามบันทึกถ้อยคำที่จ. ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่าที่ดินพิพาทมีชื่อฉ. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์วันนี้ทายาทของฉ. คือจำเลยได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของฉ. จ.เป็นทายาทของฉ.ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้และยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียวดังนี้ไม่ใช่การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1612เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใดแต่บันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา850,852และ1750โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของจ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจำรัส ธรรมสฤษฎ์ นายจำรัสและจำเลยเป็นบุตรของนางเฉาะ วิจารณ์ นางเฉาะเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3792เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 187 หมู่ที่ 1ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว ต่อมา พ.ศ. 2527 นางเฉาะถึงแก่ความตาย บิดามารดาของโจทก์ทั้งสองพร้อมทั้งโจทก์ทั้งสองและจำเลยยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งพ.ศ.2534 นายจำรัสถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองและมารดากับจำเลยยังคงพักอาศัยร่วมกันในบ้านและที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางเฉาะในส่วนที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายโดยโจทก์ทั้งสองจะรับส่วนแบ่งเป็นที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน90 ตารางวา ราคาประมาณ 1,600,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3792ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ให้แก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา หากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า วันที่ 2 ธันวาคม 2530 นายจำรัสยื่นเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม ยกสิทธิของตนที่มีในทรัพย์มรดกของนางเฉาะถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่3792 ดังกล่าวครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยทั้งหมด จำเลยจึงได้จดทะเบียนรับโอนมรดกของนางเฉาะ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 3792เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว มิใช่ทรัพย์มรดกของนางเฉาะอีกต่อไปโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวและหลังจากนางเฉาะถึงแก่ความตาย นายจำรัสมิได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 3792 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกโดยเจตนาเป็นเจ้าของและโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อขอแบ่งที่ดินแปลงนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่นางเฉาะถึงแก่ความตาย คดีของโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณาโจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงรับกันว่านางเฉาะ วิจารณ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2792ตามฟ้อง นางเฉาะมีบุตร 2 คน คือนายจำรัส ธรรมสฤษฎ์และจำเลยนายจำรัสมีภรรยาชื่อนางเสวก ธรรมสฤษฎ์ และมีบุตร3 คนคือโจทก์ทั้งสองและนางสาวทองสุข ธรรมสฤษฎ์ ภรรยาและบุตรของนายจำรัสมีชีวิตอยู่ทุกคน หลังจากนางเฉาะถึงแก่กรรมแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม 2530 นายจำรัสทำบันทึกถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวและยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้เพียงผู้เดียวตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.1 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.5) โจทก์ทั้งสองและจำเลยขอสละประเด็นพิพาททั้งหมด และขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า เมื่อนายจำรัสทำบันทึกดังกล่าวแล้วโจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินดังกล่าวจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใดโดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3792 ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ให้แก่โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่3 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา หากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีข้อเดียวว่า เมื่อนายจำรัสบิดาของโจทก์ทั้งสองทำบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.1 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.5) แล้วโจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินตามฟ้องอันเป็นทรัพย์มรดกของนางเฉาะจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.1 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.5) เป็นบันทึกที่นายจำรัส ธรรมสฤษฎ์ ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมมีใจความสำคัญว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3792 ตำบลธรรมศาลาอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีชื่อนางเฉาะ วิจารณ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งได้ตายไปแล้ว วันนี้ (วันที่ 2ธันวาคม 2530) ทายาทของผู้ตายคือจำเลยได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของนางเฉาะ นายจำรัสได้รับทราบเรื่องราวและประกาศขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้โดยตลอดแล้วนายจำรัสเป็นทายาทของผู้ตาย มีสิทธิที่จะได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้ด้วย แต่นายจำรัสไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้แต่อย่างใด และยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าถ้อยคำของนายจำรัสเป็นบันทึกที่เจ้าพนักงานที่ดินปฎิบัติไปตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 81 ประกอบกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2516)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งถ้อยคำของนายจำรัสดังกล่าวไม่ใช่กรณีทายาทสละมรดกตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 เพราะการสละมรดกตามมาตรานี้หมายถึงการสละส่วนหนึ่งของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใดแต่บันทึกถ้อยคำของนายจำรัสดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความ มีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852 และ 1750ทั้งตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งจำเลยได้ส่งศาลในวันชี้สองสถานโดยโจทก์ทั้งสองไม่คัดค้านความถูกต้องก็ปรากฎว่าระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนเสร็จสิ้นอันถือได้ว่าจำเลยผู้มีชื่อในโฉนดได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ดินแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายจำรัสไม่มีสิทธิ์ฟ้องแบ่งที่ดินแปลงนี้จากจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้แก่โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่งนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share