แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีก่อน ฉ.ฟ้องโจทก์เรียกเงินตามสัญญากู้ จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ ฉ.ว่า รู้เห็นการกู้ยืมเงิน การรับเงินและลงชื่อเป็นพยานด้วย เมื่อโจทก์เบิกความยอมรับว่าได้กู้เงินไปตามสัญญากู้ในคดีก่อนจริง เพียงแต่อ้างว่าได้ชำระหนี้ไปบางส่วนแล้ว คำเบิกความของจำเลยหากจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี และแม้โจทก์จะมิได้กู้เงินถึงจำนวนตามฟ้อง แต่คำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนก็มิได้ยืนยันว่าโจทก์กู้เงิน ฉ.ไปจำนวนเท่าใดเพราะไม่ได้ร่วมนับเงินที่โจทก์กู้ไปด้วย คำเบิกความของจำเลยในส่วนนี้จึงมิใช่ข้อสำคัญในคดีเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ว่าจำเลยเบิกความเท็จนั้นเลื่อนลอย ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นเท็จ แต่ก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ พิพากษายืนในผล
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่าตามเอกสารหมาย จ.๕ จำเลยเบิกความตอบคำถามที่ค้านที่ศาลแขวงพระนครเหนือว่า “รู้จักนางเฉลิมศรี ตัญญบุตร มา ๗ – ๘ ปี” จำเลยให้การเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ เมื่อนับเวลาย้อนหลังขึ้นไป ๗ – ๘ ปี จำเลยรู้จักนางเฉลิมศรีเมื่อปี ๒๕๒๐ หรือ ๒๕๒๑ สัญญากู้เอกสารหมาย จ.๓ ระบุว่าทำเมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๙ เอกสารดังกล่าวทำก่อนรู้จักจำเลยนานถึง ๒ ปี จำเลยจึงไม่รู้เห็นการทำสัญญาเอกสารหมาย จ.๓ แน่นอน จำเลยเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๖๒๐/๒๕๒๘ ว่า รู้เห็นการกู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.๕ คือเอกสารหมาย จ.๓ ในคดีนี้และเห็นการรับเงิน และลงชื่อเป็นพยานด้วย ข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลจึงเป็นเท็จ คำเบิกความเกี่ยวกับการรับเงินและลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเป็นข้อสำคัญของคดี เพราะหากศาลแพ่งเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยโจทก์ก็ต้องแพ้คดีนางเฉลิมศรีนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ได้กู้เงินตามภาพถ่ายสัญญากู้เอกสารหมาย จ.๑ จ.๒ และ จ.๓ เพียงแต่อ้างว่าได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว คงค้างเงินกู้ครั้งแรก ๑๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น เมื่อโจทก์เบิกความรับเช่นนี้ คำเบิกความของจำเลยที่ว่ารู้เห็นการกู้ยืมก็ดีเห็นการรับเงินก็ดี และลงชื่อเป็นพยานด้วยก็ดี หากจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีนั้นแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า ทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ยืนยันว่าไม่ได้กู้เงิน ๑๓,๖๐๐ บาท จากนางเฉลิมศรี แต่จำเลยกลับเบิกความยืนยันว่าโจทก์กู้เงิน ๑๓,๖๐๐ บาท และเห็นรับเงินจากนางเฉลิมศรีผู้ให้กู้ และลงชื่อเป็นพยานด้วย จึงเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เบิกความว่าตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.๓ นี้ระบุว่า โจทก์กู้เงินนางเฉลิมศรีไปเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๙ เป็นเงิน ๑๓,๖๐๐ บาท แต่จริง ๆ แล้วในครั้งนั้นโจทก์กู้เงินไปเพียง ๓,๖๐๐ บาท ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่าได้กู้เงินนางเฉลิมศรีจริง แต่กู้เพียง ๓,๖๐๐ บาท เท่านั้น และตามคำเบิกความของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๔ จำเลยก็มิได้ยืนยันว่าโจทก์ได้กู้เงินนางเฉลิมศรีไปเป็นจำนวนเท่าใด เพราะจำเลยไม่ได้ร่วมรับเงินจำนวนที่โจทก์กู้ไปด้วย คำเบิกความของจำเลยในส่วนนี้จึงมิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีเช่นเดียวกัน จำเลยไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
พิพากษายืน