คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ได้ทำสัญญาเป็นบันทึกข้อตกลงในเรื่องบุตรและทรัพย์สินมีใจความว่า บุตรอยู่ในความอุปการะทั้งสองฝ่าย โจทก์ที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ 3 แปลงยอมยกให้แก่บุตรทั้ง 7 คน จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ 2 แปลง ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นสวนยกให้แก่บุตรที่ชื่อ ร. ที่ดินที่เป็นที่นาพร้อมบ้าน 1 หลัง ยกให้แก่บุตรทั้ง 7 คน ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน ทั้งสองฝ่ายจะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรในวันที่ 22มกราคม 2517 ดังนี้ เห็นได้ว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 นั้น ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะเกิดมีขึ้นภายหน้าให้เสร็จสิ้นไป ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา และได้โอนขายที่ดิน (ที่นา) ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยที่ 2 ทราบข้อตกลง ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ในการแบ่งทรัพย์สิน รวมทั้งการยกที่พิพาทให้บุตรตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ยังรับซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบและเป็นการรับซื้อไว้โดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 1 ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของนายอุดม เด็กหญิงผ่องศรี เด็กหญิงเพ็ญศรี เด็กหญิงศิริพรบุตรผู้เยาว์ซึ่งเกิดกับจำเลยที่ 1 การจดทะเบียนหย่าขาดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 นั้น ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในเรื่องสินสมรสไว้ ฯลฯ และมีข้อตกลงกันว่าห้ามมิให้จำหน่าย จ่ายโอนสำหรับที่ดินที่จะยกให้บุตร ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่นาให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 20,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ยกบุตรไปแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์และบุตรทั้งหมดเสียเปรียบและเสียหาย ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสองเสีย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ในฐานะส่วนตัวและในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกซึ่งมิได้แสดงเจตนาเข้าถือประโยชน์จากสัญญา จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเปิดเผยและมีค่าตอบแทน ไม่ทราบข้อตกลงประนีประนอมยอมความตามสัญญาท้ายฟ้องการโอนรายนี้ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนำเอาที่พิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และได้ทำสัญญาเป็นบันทึกข้อตกลงในเรื่องบุตรและทรัพย์สินมีใจความว่า บุตรอยู่ในความอุปการะของทั้งสองฝ่าย โจทก์ที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ 3 แปลง ยอมยกให้แก่บุตรทั้ง 7 คน จำเลยที่ 1 มีที่ดินอยู่2 แปลง ที่ดินแปลงที่เป็นสวนยกให้แก่บุตรสาวที่ชื่อนางสาวรัตนา เปรมโรจน์ ที่ดินที่เป็นนาซึ่งมีบ้านเลขที่ 36 ปลูกอยู่ 1 หลัง ยกให้แก่บุตรทั้ง 7 คน ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน ทั้งสองฝ่ายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุตรในวันที่ 22 มกราคม 2517 ปรากฏตามเอกสาร จ.2 และ จ.3 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2517 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินนาพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 20,000บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.ล.1

ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะเกิดมีขึ้นภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ที่นา) พิพาทให้แก่บุตรทั้ง 7 คน แต่จำเลยที่ 1 กลับนำไปโอนขายให้จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ได้ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ส่วนในปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทไว้โดยสุจริตนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ในการแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งการยกที่พิพาทให้บุตรตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แล้ว จำเลยที่ 2 ยังรับซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 อีก อันเป็นการทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อที่พิพาทไว้โดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 1 ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

พิพากษายืน

Share