คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยนี้โจทก์ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27, 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และได้มีการประนอมหนี้ตามมาตรา 56 แล้วด้วย มาตรา 56 บัญญัติไว้ว่า การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งในเรื่องนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ ฯลฯ” เมื่อหนี้ของโจทก์ไม่ใช่หนี้ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 77 การประนอมหนี้ดังกล่าวมาข้างต้นจึงผูกมัดโจทก์ด้วย โจทก์จะฟ้องจำเลย (ลูกหนี้) ให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นอีกไม่ได้ และกรณีนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรวม ๒๐ โฉนด อยู่ที่ถนนอุดมสุข ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๖ จำเลยได้ทำสัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวทั้งหมดในราคา ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อจำเลยชำระเงินงวดที่ ๑ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ต้องโอนโฉนดรวม ๔ โฉนดให้จำเลยและเมื่อชำระเงินงวดที่ ๒ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว โจทก์ต้องโอนโฉนดที่เหลืออีก ๑๖ ฉบับให้จำเลย ส่วนการชำระเงินงวดต่อไปอีก ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยชำระโดยตั๋วสัญญาใช้เงิน ๕ ฉบับ ฉบับละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๒ ถึง ๖ ทั้งนี้ จำเลยตกลงว่าหากโจทก์รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับหนึ่งฉบับใดไม่ได้ด้วยกรณีใด ๆ ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าที่ดินทั้งหมด ยอมโอนที่ดินดังกล่าวทั้งหมดคืนโจทก์และยอมให้โจทก์ริบเงินค่าที่ดินที่จำเลยชำระไปแล้วด้วย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าว โจทก์ได้รับเงินงวดที่ ๑ ที่ ๒ และโอนที่ดิน ๒๐ โฉนดให้จำเลยตามสัญญาแล้ว ต่อมาจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินนั้นออกเป็น ๒๐๘ โฉนด ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ แล้วโอนขายไป ๓๘ โฉนด คงเหลือ ๑๗๐ โฉนด มีเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๑ งาน ๑๔ ตารางวา ราคาปัจจุบัน ตารางวาละ ๑,๒๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๕,๙๗๖,๘๐๐ บาท ครั้นถึงกำหนดชำระค่าที่ดินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ โจทก์นำไปขึ้นเงินไม่ได้จำเลยจึงผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม ๒๐๘ โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินได้ก็ให้ใช้ค่าที่ดินรวม ๑๕,๙๗๖,๘๐๐ บาท หากจำเลยโอนไม่ครบก็ให้ใช้ค่าที่ดินส่วนที่ขาดในราคาปัจจุบันตารางวาละ ๑,๒๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
วันนัดสืบพยานโจทก์ ความปรากฏแก่ศาลว่าจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเลื่อนคดีไป หมายเรียกพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มหาศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงว่าจำเลยถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ๑๕/๒๕๑๙ ของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙ ยังอยู่ในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ขอให้ศาลจำหน่ายคดีนี้เพื่อให้ขอชำระหนี้ในคดีล้มละลาย โจทก์แถลงคัดค้านว่าควรพิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป เพื่อจะได้เอาคำพิพากษาของศาลนี้ไปยื่นของรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) จึงตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ เจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ (จำเลย) จะขอรับชำระหนี้ได้ก็โดยปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ดังนั้น แม้จะได้มีการสืบพยานโจทก์ไปแล้วมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ก็ต้องนำคำพิพากษาไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกเช่นกัน หาได้เป็นประโยชน์แก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ประการใด เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงไม่ขอเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ (จำเลย) และขอให้ศาลจำหน่ายคดีเสียเพื่อให้โจทก์ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์เพราะยังอยู่ในระยะเวลาที่จะยื่นได้ด้วย เหตุผลที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงเป็นการสมควร จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์เพื่อให้โจทก์ไปยืน่คกขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า รูปคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์และผิดสัญญาหรือไม่ ถ้าฟังได้จะบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำขอของโจทก์เพียงใดหรือไม่ และหนี้ที่โจทก์ขอให้บังคับเช่นการโอนที่ดินเป็นหนี้ที่ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาพิพากษาชี้ขาดคดีให้เสร็จสิ้นไป จะทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ ซึ่งอาจจะมีในภายหลังที่ศาลพิพากษาแล้วได้รวบรัดสะดวกขึ้น พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ช.สุริยะ จำกัด ลูกหนี้ (จำเลย) ฎีกาขอให้จำหน่ายคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่าตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกานั้น บัดนี้ คดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ๑๕/๒๕๑๙ ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ดำเนินคดีแทนลูกหนี้ในคดีย่อมระงับลง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาเพื่อขอดำเนินคดีแทนลูกหนี้โดยให้โจทก์ไปขอรับชำระหนี้ย่อมกระทำไม่ได้ เพราะคดีที่จำเลยเป็นลูกหนี้ ศาลสั่งเห็นชอบในการประนอมหนี้แล้ว ขอให้ศาลสั่งจำหน่ายฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อโจทก์จะได้ดำเนินคดีต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ช.สุริยะ จำกัด ลูกหนี้ (จำเลย) แถลงว่าศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีต่อไป สุดแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง
ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วคดีได้ความว่า เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙ ศาลแพ่งมีคำสั่งในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ๑๕/๒๕๑๙ ระหว่างนางสุรีย์ ยิ้มศิริ โจทก์บริษัท ช. สุริยะ จำกัด จำเลยให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๙ โจทก์คดีนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ช. สุริยะ จำกัด จำเลย ลูกหนี้เป็นเงิน ๑๕,๙๗๖,๘๐๐ บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าซื้อที่ดิน ค่าเสียหาย วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐ เจ้าพนักงานพิทักษ์นัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ช. สุริยะ จำกัด ลูกหนี้ จึงขอให้ศาลแพ่งนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย และพิจารณาราคาขอประนอมหนี้ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๐ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานไป และในวันที่ศาลแพ่งทำการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ ๑๒ ก็ยอมตกลงประนอมหนี้โดยไม่คัดค้าน
ดังนี้ หนี้รายที่โจทก์ฟ้องจำเลย โจทก์ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๖ แล้วด้วย มาตรา ๕๖ บัญญัติไว้ว่า “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ ฯลฯ” ฉะนั้น เมื่อหนี้ของโจทก์ไม่ใช่หนี้ดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๗๗ การประนอมหนี้ดังกล่าวมาข้างต้นจึงผูกมัดโจทก์ด้วย โจทก์จะฟ้องจำเลย (ลูกหนี้) ให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นอีกไม่ได้ และกรณี่นี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นอีกไม่ได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งในเรื่องที่โจทก์ขอให้จำหน่ายฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้อีกต่อไป
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share