คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดการยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสียเองนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งย่อมเป็นผู้เสียหาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2521)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด ๖ คน จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือ
(ก) จำเลยได้บังอาจทำบัญชีงบดุลของห้างหุ้นส่วนอันเป็นเท็จว่า ห้างหุ้นส่วนได้จ่ายเงินให้แก่นายประกิต รัตนวิชัย ไปจำนวน ๑,๒๒๘,๕๑๐ บาท ๙๐ สตางค์ เพื่อนำไปลงทุนทำไม้ส่งให้ห้างหุ้นส่วนตามสัญญาระหว่างนายประกิตกับห้างหุ้นส่วน ความจริงนายประกิตไม่เคยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากห้างหุ้นส่วน จำเลยทำบัญชีงบดุลอันเป็นเท็จขึ้นเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ หลงเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายประกิตไปจริง และโดยอาศัยบัญชีงบดุลเท็จดังกล่าว จำเลยได้บังอาจเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวน ๑,๒๒๘,๕๑๐ บาท ๙๐ สตางค์ ซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจากบัญชีของห้างหุ้นส่วนไปเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการลงข้อความเท็จในบัญชีงบดุลอันเป็นเอกสารของห้างหุ้นส่วนเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน และผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์ ต้องสูญเสียเงินของห้างหุ้นส่วน และของผู้เป็นหุ้นส่วนไปจำนวน ๑,๒๒๘,๕๑๐ บาท ๙๐ สตางค์
(ข) จำเลยได้บังอาจกระทำการให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ กล่าวคือ ห้างหุ้นส่วนได้จ่ายเงินจำนวน ๕๖๔,๖๐๖ บาท ๗๐ สตางค์ ให้แก่นายประกิต รัตนวิชัย เพื่อนำไปลงทุนทำไม้ที่นายประกิตได้รับอนุญาตจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สาขาจังหวัดขอนแก่น และที่นายประกิตได้รับอนุญาตให้ทำตามใบอนุญาตต่าง ๆ ซึ่งไม้ที่นายประกิตทำไปแล้ว โดยเงินทุนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ไม้มาจำนวน ๕๔๐๖.๒๔ ลูกบาศก์เมตร ไม้จำนวนดังกล่าวนี้นายประกิตมีความผูกพันที่จะต้องส่งให้แก่ห้างหุ้นส่วน แล้วห้างหุ้นส่วนจะขายได้กำไรทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑,๒๔๓,๒๔๘ บาท แต่ห้างหุ้นส่วนหาได้รับไม้จำนวนดังกล่าวจากนายประกิตไม่ จำเลยได้บังอาจบีบบังคับและใช้อุบายลวงให้นายประกิตโอนไม้จำนวนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไชยกิจขนส่ง ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนที่จำเลยมีหุ้นและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอีกต่างหากจากห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจ โดยจำเลยมิได้แจ้งให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ทราบ การกระทำของจำเลยทำให้ห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย ขาดประโยชน์ไปคิดเป็นเงิน ๑,๘๐๗,๘๕๔ บาท ๗๐ สตางค์
ต่อมาผู้เป็นหุ้นส่วนอีก ๕ คนมีนางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึง นายคิม แซ่โอว นายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ ได้ทราบถึงการที่จำเลยยักยอกเงินของห้างหุ้นส่วน จึงได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓ พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔๒ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไป ๑,๒๒๘,๕๑๐ บาท ๙๐ สตางค์ แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้เสียหายและแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒, ๓๕๓ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯ นั้น พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ ถือว่าไม่มีการสอบสวนความผิดฐานนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ได้มีการร้องทุกข์โดยชอบ และได้มีการแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริง และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรไชยกิจ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นอีก ๕ คนคือ นางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึง นายคิม แซ่โอว นายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ วันที่ ๑๖ และวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๒ ผู้เป็นหุ้นส่วนรวม ๕ คนได้มีการประชุมกันโดยมีนายซือตง แซ่เซียวและนายเกียยาม แซ่แต้เข้าประชุมด้วยตนเอง ส่วนนางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นายเว้งฮง แซ่ปึง และนายคิม แซ่โอว ให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ นายเสรี บูรณะวัฒนากุล และนายจึงหงี่ แซ่โอ้ว เข้าประชุมแทนตามลำดับ โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจ แล้วผู้ที่เข้าประชุมดังกล่าวแล้วได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญนจ์ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตลอดจนการดำเนินคดีทางศาลกล่าวหาว่าจำเลยฉ้อโกงผู้เป็นหุ้นส่วน หรือยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน ต่อมานายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ ยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการกองปราบปราม แจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกสมเกียรติ พ่วงทรัพย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น และทำบันทึกมอบคดีความผิดต่อส่วนตัวให้พนักงานสอบสวน ร้อยตำรวจเอกสมเกียรติ พ่วงทรัพย์จึงได้สอบสวนความผิดฐานนั้น และโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาความผิดฐานยักยอกนั้น แม้จะปรากฏว่า นางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นางเว้งฮง แซ่ปึง และนายคิด แซ่โอว ผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้เข้าประชุมด้วยตนเอง โดยมอบให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ นายเสรี บูรณะวัฒนากุล และนายจึงหงี่ แซ่โอ้ว เข้าประชุมแทนโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจ แล้วผู้เข้าประชุมแทนเป็นผู้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ไปร้องทุกข์ อันถือไม่ได้ว่านางมาลินี พิพัฒน์วีรวัฒน์ นางเว้งฮง แซ่ปึง และนายคิม แซ่โอว ผู้เป็นหุ้นส่วนได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ไปร้องทุกข์ก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีผู้เป็นหุ้นส่วนอีก ๒ คนได้เข้าประชุมด้วยตนเองคือ นายซือตง แซ่เซียว และ นายเกียยาม แซ่แต้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองคนนี้ได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๗ มีปัญหาว่านายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่า ในกรณีที่หุ้นส่วนผู้จัดากรยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเสียเองนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งย่อมเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้นเมื่อนายซือตง แซ่เซียว และนายเกียยาม แซ่แต้ ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้เสียหายดังกล่าวได้มอบอำนาจให้นายเชาว์ วิจิตรกาญจน์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้วเช่นนี้ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องในความผิดดังกล่าวได้
ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯ พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔๒ นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐
พิพากษาแก้ เป็นว่าให้ยกฟ้อโจทก์และโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดต่อ พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share