คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5701/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดและมูลกรณีที่โจทก์นำมาเป็นเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 รับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับในคดีอาญาคดีก่อนที่จำเลยที่ 2 รับสารภาพว่าได้กระทำความผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มาด้วย จึงถือว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่ฟ้องจริง คงมีประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ทำนองว่า จำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ย ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาบรรษัท ง. ฟ้องเรียกเงินกู้คืนจากบริษัท ฟ. และจำเลยร่วมแต่ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย และจำเลยที่ 2 มีส่วนช่วยติดตามยึดทรัพย์สินของบริษัท ฟ. เพื่อเยียวยาค่าเสียหายให้แก่บรรษัท ง. และมีเหตุส่วนตัวอื่น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่งและรอการลงโทษจำคุกให้นั้น ถือเป็นเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ใช้ประกอบดุลพินิจในประเด็นที่ว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ ไม่เป็นการลบล้างความผิดตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ให้หมดสิ้นไป
เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การสารภาพยอมรับว่า จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในขั้นตอนก่อนหรือขณะกระทำความผิด ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอาญาว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดจริง และในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่อุทธรณ์ยอมรับความผิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำลงไป มิได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโดยฟังว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยก้าวล่วงไปสู่พฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นในการทุจริตกับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงหักล้างเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาที่ฟังจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีอาญาที่ยุติเด็ดขาดไปแล้วแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด การรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้ด้วย
เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ฟ. โดยต้องลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงจำต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ให้โอกาสจำเลยที่ 2 ด้วยการรอการลงโทษจำคุกมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับบริษัท ฟ. ทั้งสองครั้งโดยไม่ใช้แบบฟอร์มสัญญาของโจทก์ การตรวจรับสินค้าหรือปุ๋ยตามสัญญาก็กระทำเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเสนอคณะกรรมการโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นการกระทำตามลำพังเฉพาะตัว เพียงแต่อาศัยตำแหน่งที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการของโจทก์มาทำการทุจริตเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลที่สาม โดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่อยู่ในวิสัยหรือโอกาสที่จะตรวจสอบได้ในสารบบงานที่เกี่ยวข้อง โจทก์จึงไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อ
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ไปก่อหนี้ผูกพันลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองสัญญากับโจทก์ ไม่ได้ความเป็นที่ประจักษ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์หรือส่วนแบ่งโดยตรงจากเงินที่บริษัท ฟ. ได้รับจากบรรษัท ง. และพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยร่วมหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จ อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาหรือคำพิพากษาของศาลว่าจำเลยที่ 2 กระทำการยักยอกเบียดบังเอาสินค้าหรือเงินของบริษัท ฟ. ไป ลำพังคำให้การซัดทอดของ ส. ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงมีความร้ายแรงน้อยกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้แก่โจทก์ย่อมมีสัดส่วนน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จำนวนหนึ่งในสี่ของค่าเสียหาย ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเท่ากับสัดส่วนความประมาทเลินเล่อของบรรษัท ง. ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของฝ่ายตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 82,639,171.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44,100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางจินดารัตน์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องนางจินดารัตน์เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน หากศาลพิจารณาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 44,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญกระทำการแทนบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ก่อนคดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ สรุปใจความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2544 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตตกลงทำสัญญาซื้อขายอาหารเสริมพืชชนิดเม็ด (ปุ๋ย) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2544 กับบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด จำนวน 3,000 ตัน ราคาตันละ 6,600 บาท รวมเป็นเงิน 19,800,000 บาท และจำนวน 6,000 ตัน ราคาตันละ 6,500 บาท รวมเป็นเงิน 39,000,000 บาท สัญญาแรกกำหนดส่งมอบอาหารเสริมพืชชนิดเม็ด (ปุ๋ย) ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 เมษายน 2544 กำหนดชำระราคาแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2544 สัญญาที่สองกำหนดส่งมอบอาหารเสริมพืชชนิดเม็ด (ปุ๋ย) ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 กำหนดชำระราคาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2545 แล้วจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมและบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด นำสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับไปยื่นขอสินเชื่อเครดิตทางการค้าจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยนำเอกสารซึ่งประกอบด้วยสัญญาซื้อขายอาหารเสริมพืชชนิดเม็ด (ปุ๋ย) ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ และใบเสร็จรับเงิน ยื่นประกอบว่า มีการซื้อขายปุ๋ยและมีการส่งปุ๋ยให้แก่โจทก์โดยครบถ้วนถูกต้องแท้จริงและโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินที่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด จะได้รับตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจากโจทก์ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม ทั้งนี้สัญญาซื้อขายดังกล่าวทำขึ้นเป็นความเท็จ ความจริงแล้วไม่มีการซื้อขายและส่งมอบอาหารเสริมพืชชนิดเม็ด (ปุ๋ย) ตามสัญญาโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับในการบริหารงบประมาณและงานพัสดุ โดยมีจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมและบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดก่อนหรือขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมใช้หลักฐานดังกล่าวสร้างความน่าเชื่อถือประกอบการขอสินเชื่อ จนเป็นเหตุให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมอนุมัติวงเงินสินเชื่อเครดิตทางการค้าเป็นเงิน 16,000,000 บาท และ 32,000,000 บาท ตามลำดับ ให้แก่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด โดยบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมยอมรับโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์มูลค่า 19,800,000 บาท และ 39,000,000 บาท ที่จะต้องจ่ายให้แก่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ดังกล่าวไปเป็นของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี โดยไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 12,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 24,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุด ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ ต่อมาบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ก.ย.พ.) คณะกรรมการดังกล่าวมีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวนสามในสี่ของจำนวน 58,800,000 บาท เป็นเงิน 44,100,000 บาท ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมและได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ ต่อมาบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้โอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน กำไรสะสม มาเป็นของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการของโจทก์ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ชี้ขาดให้โจทก์ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ ก.ย.พ. โดยตกลงให้แบ่งชำระเงินเป็นระยะเวลา 10 ปี โจทก์ได้ชำระงวดแรกและงวดที่สองให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยในวันที่ 31 มีนาคม 2554 และ 27 มีนาคม 2555 จำนวนปีละ 4,000,000 บาท และต้องผูกพันชำระต่อไปจนกว่าจะครบถ้วน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดและมูลกรณีที่โจทก์นำมาเป็นเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 รับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.606/2555 ที่จำเลยที่ 2 รับสารภาพว่าได้กระทำความผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มาด้วย จึงถือว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 นำสืบเจือสมรับว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่า คำวินิจฉัยในคดีอาญาของศาลอุทธรณ์ฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับโจทก์ จำเลยร่วมเป็นผู้ดำเนินการเอง จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมเงินจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม และศาลอุทธรณ์ยังได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นในการทุจริตคดโกงกับจำเลยร่วม ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง คงมีประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ทำนองว่า จำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ย ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมฟ้องเรียกเงินกู้คืนจากบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด และจำเลยร่วมแต่ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย และจำเลยที่ 2 มีส่วนช่วยติดตามยึดทรัพย์สินของบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด เพื่อเยียวยาค่าเสียหายให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมและมีเหตุส่วนตัวอื่น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่งและรอการลงโทษจำคุกให้นั้น ถือเป็นเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ใช้ประกอบดุลพินิจในประเด็นที่ว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ ไม่เป็นการลบล้างความผิดตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ให้หมดสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพยอมรับว่า จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในขั้นตอนก่อนหรือขณะกระทำความผิด แล้วจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมและบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ได้นำสัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองฉบับและเอกสารประกอบอื่นไปใช้เป็นหลักฐานสร้างความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อเครดิตทางการค้ากับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม และโอนสิทธิเรียกร้องค่าซื้อปุ๋ยดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม ทำให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมอนุมัติวงเงินสินเชื่อเครดิตทางการค้าเป็นเงิน 16,000,000 บาท และ 32,000,000 บาท ให้แก่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ซึ่งความจริงแล้วไม่มีการซื้อขาย และส่งมอบปุ๋ยกันตามสัญญาดังกล่าว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอาญาว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดจริง ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่อุทธรณ์ยอมรับความผิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำลงไป มิได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโดยฟังว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด จริงอยู่แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยก้าวล่วงไปสู่พฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นในการทุจริตคดโกงกับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงหักล้างเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาที่ฟังจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีอาญาที่ยุติเด็ดขาดไปแล้วแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนในการกระทำความผิด การรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้ด้วย แม้พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนร่วมในการติดต่อซื้อขายปุ๋ยในนามบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด กับโจทก์โดยตรง แต่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมและบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด นำสัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองฉบับ ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ และใบเสร็จรับเงิน ยื่นประกอบคำขอสินเชื่อเครดิตทางการค้ากับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งเอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารเท็จที่มีการปลอมแปลงขึ้นและโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินที่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด จะได้รับตามสัญญาซื้อขายจากโจทก์ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมอันทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด โดยต้องลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงจำต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ให้โอกาสจำเลยที่ 2 ด้วยการรอการลงโทษจำคุกมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 รับฟังได้ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์นำเอาเหตุผลตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606-607/2555 ของศาลอาญา มาเป็นโทษแก่โจทก์ในคดีนี้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยและมีส่วนประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในความเสียหายตามฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ทั้งสองคราวโดยไม่ใช่แบบฟอร์มสัญญาของโจทก์ การตรวจรับสินค้าหรือปุ๋ยตามสัญญาก็กระทำเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเสนอคณะกรรมการโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นการกระทำตามลำพังเฉพาะตัว เพียงแต่อาศัยตำแหน่งที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการของโจทก์มาทำการทุจริตเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลที่สาม โดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่อยู่ในวิสัยหรือโอกาสที่จะตรวจสอบได้ในสารบบงานที่เกี่ยวข้อง โจทก์จึงไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีความประมาทด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เต็มตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เหตุที่โจทก์ต้องชดใช้เงินจำนวน 44,100,000 บาท ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม จำกัด จากความเสียหายที่แท้จริงจำนวน 58,800,000 บาท เนื่องจากในการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ก.ย.พ. พบพฤติการณ์ว่า บรรษัทเงินอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีส่วนบกพร่องในการจ่ายเงินกู้ ให้กับบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด 2 ครั้ง เป็นเงิน 46,723,725.20 บาท จึงชี้ขาดให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมร่วมรับผิดชอบจำนวนหนึ่งในสี่ส่วน และกำหนดให้โจทก์ชดใช้เงินให้แก่บรรษัทเงินทุนดังกล่าวเพียงสามในสี่ส่วน จากผลการสอบสวนฟังได้ว่า โจทก์ต้องรับผิดชอบในการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนกระทำไปในนามนิติบุคคลต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง มาตรา 821 ประกอบมาตรา 77 ไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องถูกเฉลี่ยความรับผิดเพราะเหตุมีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด แต่สำหรับจำเลยที่ 2 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใด ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ไปก่อหนี้ผูกพัน ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองสัญญากับโจทก์ ไม่ได้ความเป็นที่ประจักษ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์หรือส่วนแบ่งโดยตรงจากเงินที่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ได้รับจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม และพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยร่วมหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จ ได้แก่ สัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองสัญญา ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงิน เพื่อยื่นขอสินเชื่อเครดิตทางการเงินกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม แม้จากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายสมเกียรติจะให้ถ้อยคำว่า เหตุที่บริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ไม่สามารถจัดส่งปุ๋ยให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากปุ๋ยที่จัดเก็บไว้ในโกดังอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี หายไป นายสมเกียรติเชื่อว่า จำเลยที่ 2 นำไปขายให้แก่บุคคลอื่น และนำเงินที่ได้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน และจากการตรวจสอบบัญชีของบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด พบว่าจำเลยที่ 2 เบิกเงินจากบัญชีบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ไปครั้งละ 5,000,000 บาท รวม 5 ครั้ง ซึ่งจำเลยร่วมได้ไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อไว้ อันเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่โจทก์กล่าวไว้ในฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำนายสมเกียรติมาเบิกความเป็นพยานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวและเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 2 ได้ถามค้าน ข้อกล่าวหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ลักลอบนำปุ๋ยของบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ไปขายและนำเงินมาเป็นประโยชน์ส่วนตนและจำเลยที่ 2 ถอนเงินออกจากบัญชีของบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด รวม 25,000,000 บาท ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาหรือคำพิพากษาของศาลว่าจำเลยที่ 2 กระทำการยักยอกเบียดบังเอาสินค้าหรือเงินของบริษัทฟื้นฟูดิน จำกัด ไป ลำพังคำให้การซัดทอดของนายสมเกียรติที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่อย่างใด พฤติการณ์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการดังที่นายสมเกียรติให้ถ้อยคำไว้ตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนั้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงมีความร้ายแรงน้อยกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้แก่โจทก์ย่อมมีสัดส่วนน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จำนวนหนึ่งในสี่ของต้นเงินจำนวน 44,100,000 บาท ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเท่ากับสัดส่วนความประมาทเลินเล่อของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของฝ่ายตน เมื่อคำนวณเงินจำนวนหนึ่งในสี่ของยอดเงิน 44,100,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 11,025,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 11,025,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share