แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองความว่า “9. ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะไม่กระทำการต่อไปนี้โดยมิได้รับความยินยอมจากบริษัท…(ข) ภายในกำหนดเวลา 24 เดือน นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง…(2) เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนา ทำ ผลิต หรือจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งตนได้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในระหว่างที่ทำงานกับบริษัท” มิได้เป็นการห้ามจำเลยทั้งสองมิให้กระทำโดยเด็ดขาด จำเลยทั้งสองอาจกระทำได้เมื่อได้รับความยินยอมจากโจทก์ และเฉพาะส่วนของงานที่จำเลยทั้งสองเคยทำกับโจทก์ ทั้งกำหนดเวลาที่ห้ามไว้ก็เพียง 24 เดือนนับแต่จำเลยทั้งสองพ้นจากการเป็นลูกจ้างโจทก์เท่านั้น ลักษณะของข้อสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำที่กำหนดโดยเจตนาของคู่กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสองทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และกำหนดไว้ไม่นานเกินสมควร เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์และอื่น ๆ รวมทั้งแลกเกอร์สำหรับเคลือบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ จำเลยทั้งสองเคยทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ทำงานตำแหน่งวิศวกรฝ่ายขาย ส่วนจำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งผู้แทนขายฝ่ายเทคนิค โจทก์จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจ้างไว้ต่อกัน ซึ่งในข้อ 9 ระบุไว้ใจความว่า ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะไม่กระทำการต่อไปนี้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ข้อ ข(2)ภายในกำหนด 24 เดือนนับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุด ลูกจ้างจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนา ทำผลิต หรือจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ซึ่งตนเคยมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ออกจากบริษัทโจทก์ไปแล้วจนถึงวันฟ้องคดีนี้ยังอยู่ในเวลา 2 ปีจำเลยทั้งสองได้ไปทำงานกับบริษัท สี ไอซีไอ (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการแข่งขันกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้เปิดเผยความลับทางการค้าตลอดจนสูตร วิธีการผลิตแลกเกอร์สำหรับเคลือบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ให้บริษัทดังกล่าวทราบ โดยอาศัยความรู้จากที่ได้เคยทำงานกับโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ชักจูงลูกค้าของโจทก์ให้เป็นลูกค้าของบริษัทดังกล่าว โดยอาศัยความคุ้นเคยที่จำเลยทั้งสองได้ทำงานกับโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ฝ่าฝืนสัญญาดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิให้ทำงานกับบริษัท สี ไอซีไอ(ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัทที่ประกอบกิจการแข่งขับกับโจทก์มีกำหนด 2 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2532 จำเลยที่2 นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2532 และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 672,000 บาท และ 492,000 บาทตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ชักชวนหรือชักจูงลูกค้าของโจทก์ให้แก่บริษัท สี ไอซีไอ จำกัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสูตรหรือวิธีการผลิตหรือความลับทางการค้าของโจทก์ไปเปิดเผยหรือใช้บริษัท สี ไอซีไอ จำกัด เนื่องจากบริษัท สี ไอซีไอ จำกัดมีสูตรซึ่งใช้ในการผลิตแลกเกอร์สำหรับเคลือบคลุมผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์มากกว่าที่โจทก์มี และยอดขายของบริษัท สี ไอซีไอ จำกัด ก็สูงกว่าของโจทก์อยู่แล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้ฝ่าฝืนสัญญาข้อ 9 ที่ทำไว้กับโจทก์เพราะการฝ่าฝืนสัญญานั้นจะต้องฟังได้เสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดเผยสูตรความลับทางการค้าและจำเลยทั้งสองได้ชักจูงลูกค้าของโจทก์ให้เป็นลูกค้าของบริษัท สี ไอซีไอ จำกัด การที่จำเลยทั้งสองไปทำงานกับบริษัท สี ไอซีไอ จำกัด เพียงอย่างเดียวยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ฝ่าฝืนสัญญาตามที่โจทก์จำเลยทั้งสองทำไว้ต่อกันและสัญญาข้อ 9(ข) (2) ซึ่งถ้าแปลว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจเข้าเป็นลูกจ้างของบริษัท สี ไอซีไอ จำกัด แม้จะไม่ทำให้โจทก์เสียหายแล้ว สัญญาส่วนนี้ยังเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนที่โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองทำงานกับบริษัท สี ไอซีไอ จำกัด และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองด้วยนั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ศาลสั่งตามที่โจทก์ขอได้ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยทั้งสองแถลงร่วมกันขอสละประเด็นพิพาทข้ออื่น ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายข้อเดียวว่า สัญญาข้อ 9(ข) (2) เป็นโมฆะหรือไม่ หากไม่เป็นโมฆะแล้วจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินให้โจทก์ 11,000 บาท ต่อเดือน และจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ให้โจทก์7,000 บาท ต่อเดือน มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาโดยโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาข้อ 9(ข) (2)ไม่เป็นโมฆะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 11,000บาท ต่อเดือน และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 7,000 บาทต่อเดือน มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าสัญญาข้อ 9(ข) (2) ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะไม่มีผลบังคับใช้ ได้พิจารณาสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อที่กล่าวแล้วมีความว่า “9. ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะไม่กระทำการต่อไปนี้โดยมิได้รับความยินยอมจากบริษัท…(ข) ภายในกำหนดเวลา 24 เดือน นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง…(2) เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนา ทำ ผลิต หรือจำหน่าย (สุดแต่จะพึงปรับได้กับกรณีของลูกจ้าง) ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งตนได้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในระหว่างที่ทำงานกับบริษัท”ตามสัญญาดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นการห้ามจำเลยทั้งสองมิให้กระทำโดยเด็ดขาด จำเลยทั้งสองอาจกระทำได้เมื่อได้รับความยินยอมจากโจทก์การกระทำที่ห้ามนั้นเป็นการห้ามเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันกับงานของโจทก์ และเฉพาะส่วนของงานที่จำเลยทั้งสองเคยทำกับโจทก์ ทั้งกำหนดเวลาที่ห้ามไว้นั้นก็มีเพียง 24 เดือน นับแต่จำเลยทั้งสองพ้นจากการเป็นลูกจ้างโจทก์เท่านั้น ลักษณะของข้อสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยเจตนาของคู่กรณีเช่นนี้ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสองทั้งหมดทีเดียวเพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และกำหนดไว้ไม่นานเกินสมควร เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.