คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยส่งหมายนัดให้จำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในคำให้การ ปรากฏว่าส่งไม่ได้ จึงปิดประกาศแจ้งวันนัดหน้าศาลเมื่อถึงวันที่ 29 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นวันนัดศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2534ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการที่จำเลยไม่ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพราะเจ้าหน้าที่มิได้นำหมายนัดไปส่งให้แก่ทนายจำเลยตามที่อยู่ใหม่ การประกาศแจ้งวันนัดหน้าศาลจึงไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงยุติและในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่าอนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกานับแต่วันนี้จึงถือได้ว่าในวันที่ 13 กันยายน 2534 จำเลยได้ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ซึ่งจะครบกำหนดฎีกาในวันที่ 13 ตุลาคม 2534แต่ปรากฎว่าวันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคมเป็นวันหยุดราชการ จำเลยยื่นฎีกาวันที่ 16 ตุลาคม 2534 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา คำสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์สินของผู้อื่นให้แก่ผู้รับพินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมของนางมาลินีศุกระพรรณา ผู้ตายซึ่งเป็นมารดาโจทก์และจำเลยแต่เพียงผู้เดียว และศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลินี ทรัพย์สินที่นางมาลินียกให้โจทก์ตามพินัยกรรมดังกล่าวมีบางรายการเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่นางมาลินีได้ให้จำเลยซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน แต่จำเลยยังไม่ดำเนินการโอนให้โจทก์ตามกฎหมายโจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5583 และ 43908 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตึกแถวเลขที่ 44/33-34 และโฉนดเลขที่ 5895 และ5896 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากโอนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน4,000,000 บาท และ 300,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดสยามคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดสยามเพนท์เฮ้าส์ ห้องเลขที่ 16ชั้น 6 ร่วมกับจำเลยคนละครึ่ง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 5583 และ 43908 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวโจทก์ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยจดทะเบียนการให้ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5895 และ 5896 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยซื้อมาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ส่วนอาคารชุดสยามคอนโดมิเนียมหรือสยามเพนท์เฮ้าส์ ห้องเลขที่ 16ชั้น 6 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยซื้อจากบริษัท พี.เอส.ดีเวลลอพเมนต์และจดทะเบียนโอนอาคารชุดห้องดังกล่าวแล้ว พินัยกรรมของนางมาลินี ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 และข้อ 3.2 ตกเป็นโมฆะเพราะระบุยกทรัพย์สินซึ่งมิใช่ของนางมาลินีแต่เป็นของจำเลยให้แก่โจทก์ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับที่ดินรวม 4 โฉนดดังกล่าวขาดอายุความเพราะจำเลยถือกรรมสิทธิ์และได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเกินกว่า10 ปีแล้ว โจทก์ประเมินราคาทรัพย์สินตามฟ้องเกินความเป็นจริงจำเลยไม่เคยกล่าวอ้างกับโจทก์หรือผู้ใดว่า ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกตามฟ้องไว้แทนนางมาลินี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่5583 และโฉนดเลขที่ 43908 ตำบลคลองเตย (บางกะปิฝั่งใต้)อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่สามารถโอนได้ก็ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จและให้จำเลยแบ่งส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดสยามคอนโดมิเนียมหรือสยามเพนท์เฮ้าส์ ห้องเลขที่ 16 ชั้น 6 ซึ่งตั้งอยู่ซอย 8 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง การแบ่งทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยหากตกลงกันไม่ได้ก็ให้ประมูลราคากันเองหรือขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินกันคนละครึ่งและหากการแบ่งดังกล่าวนี้ไม่อาจทำได้ด้วยเหตุอื่น ก็ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5895 โฉนดเลขที่ 5896 ตำบลหนองปรืออำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์หากไม่สามารถโอนได้ก็ให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาฉบับนี้หรือไม่ โดยโจทก์โต้แย้งในคำแก้ฎีกาว่า คดีนี้จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเพราะเป็นการล่วงเลยกำหนดระยะฎีกา เนื่องจากศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2534โดยในการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้มีการส่งหมายนัดให้จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ปรากฏในคำให้การเมื่อส่งไม่ได้เพราะจำเลยได้ย้ายที่อยู่โดยมิได้แจ้งให้ศาลทราบ ศาลจึงได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาให้จำเลยทราบโดยปิดประกาศหน้าศาลซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการที่จำเลยไม่ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเจ้าหน้าที่มิได้นำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปส่ง ให้แก่ทนายจำเลยตามที่อยู่ใหม่การประกาศแจ้งวันนัดหน้าศาลจึงไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 29 เมษายน 2534 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงยุติและในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า อนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกานับแต่วันนี้ จึงถือได้ว่าในวันที่ 13 กันยายน 2534จำเลยได้ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ซึ่งจะครบกำหนดฎีกาในวันที่ 13 ตุลาคม 2534 แต่ปรากฏว่า วันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคม 2534เป็นวันหยุดราชการ จำเลยยื่นฎีกาวันที่ 16 ตุลาคม 2534 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา คำสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นที่ปรากฏในสำนวนจึงชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าทรัพย์สินที่พิพาทเป็นของจำเลยเองหรือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยยึดถือไว้แทนมารดา เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทรัพย์สินที่พิพาทเป็นของจำเลย ดังนั้นการที่มีข้อกำหนดในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมารดาของโจทก์และจำเลยเป็นผู้ทำขึ้น แม้จะมีอยู่จริงข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจกำหนดให้ทรัพย์สินของผู้อื่นตกแก่ใครได้ทั้งไม่อาจนำพินัยกรรมดังกล่าวมาสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ให้เชื่อว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวแทนมารดาอีกด้วยที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทรัพย์สินที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.32,จ.33 และ จ.46 หรือ ล.26 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนมารดาและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.42 และจ.43 จำเลยก็ถือกรรมสิทธิ์แทนมารดา และพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนให้โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share