คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่จำเลยแจ้งการครอบครองอยู่ตรงไหน มิได้มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงกรณีจึงไม่ต้องห้ามในการที่จำเลยจะนำพยานบุคคลมาสืบว่าที่ดินที่จำเลยแจ้งการครอบครองไว้นั้นเป็นที่ดินตรงไหน
เรื่องจะกำหนดให้ฝ่ายใดต้องเสียค่าทนายความให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเท่าใดนั้นเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นเรื่องๆไปแล้วแต่รูปคดี มิใช่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าทนายความอย่างสูงแก่โจทก์แล้วศาลจะต้องกำหนดให้จำเลยเสียค่าทนายความอย่างสูงแก่โจทก์เสมอไป
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองภายหลังวันประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเข้าครอบครองโดยมิชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้กับรัฐได้
แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่รกร้างว่างเปล่าตลอดมา 10 ปีเศษแล้วแต่เมื่อจำเลยมิได้แจ้งการครอบครองภายในเวลาตามที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดไว้ต้องถือว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว รัฐมีอำนาจจัดที่ดินนั้นได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2509เป็นการประชุมเพื่อหาคณะ)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารมิให้เข้าไปขัดขวางเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยในที่ดินหรือออกค่าใช้จ่ายในการทำลายให้แก่โจทก์

จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทมิใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่โจทก์ฟ้อง จำเลยได้รับมรดกที่พิพาทและครอบครองเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ฟ้องซ้ำและฟ้องเคลือบคลุม

นายอำเภอตะกั่วทุ่งได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่เป็นฟ้องซ้ำ และที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่นอกจากพื้นที่ภายในเส้นสีม่วงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปขัดขวางเกี่ยวข้อง และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้ หรือออกค่าใช้จ่ายในการทำลายให้แก่โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ดินภายในเส้นสีม่วงเป็นที่ที่จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันใช้พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ส่วนที่ดินนอกเส้นสีม่วงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 5 กำหนดไว้ จึงถือว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดิน รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวได้ จำเลยไม่อาจเข้ายึดถือครอบครองก่นสร้าง หรือเผาป่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดินได้ พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยจะสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขว่าที่พิพาทภายในเส้นสีม่วงเป็นที่ดินที่จำเลยแจ้งการครอบครองไว้มิได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น การที่จะพิจารณาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่จำเลยแจ้งการครอบครองอยู่ตรงไหนมิได้มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดง กรณีจึงไม่ต้องห้ามในการที่จำเลยจะนำพยานบุคคลมาสืบว่าที่ดินที่จำเลยแจ้งการครอบครองไว้นั้นเป็นที่ดินตรงไหน และฟังว่าที่ที่จำเลยนำสืบเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่พิพาทภายในเส้นสีม่วงนั่นเอง

ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์ยังไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าในเรื่องจะกำหนดให้ฝ่ายใดต้องเสียค่าทนายความให้อีกฝ่ายหนึ่งเท่าใดนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นเรื่อง ๆ ไป แล้วแต่รูปคดี มิใช่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าทนายอย่างสูงแก่โจทก์ แล้วศาลจะต้องกำหนดให้จำเลยเสียค่าทนายความอย่างสูงแก่โจทก์เสมอไป เท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นเหมาะสมกับรูปคดีแล้ว

ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ที่จำเลยครอบครองไว้นั้นกินถึงที่ดินภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาททั้งหมดนั้น เห็นว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินภายในเส้นสีม่วงซึ่งเป็นที่มรดกของจำเลยเท่านั้น ส่วนที่ภายในเส้นสีแดงเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองภายหลังวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ จึงไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้กับรัฐได้ หรือถึงจำเลยจะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา แต่จำเลยก็มิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาตามที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 กำหนดไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดินได้

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์จำเลย

Share