แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ตายและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วและต่างขับรถเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่งฟังได้ว่าขับรถโดยประมาททั้งสองฝ่ายเมื่อผู้ตายมีส่วนกระทำผิดด้วยผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา2(4)โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา5(2)ไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ตู้โดยสาร หมายเลขทะเบียน10-0890 สงขลา แล่นไปตามถนนกาญนวนิชโดยความประมาทน่าหวาดเสียวเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสงขลา ผ-9694 ที่นายทรงกลด มองมาไพรีขับสวนทางมารถจักรยานยนต์เสียหาย นายทรงกลดถึงแก่ความตายและนายสมบัติหมัดสะอิ ผู้ซึ่งโดยสารรถที่จำเลยขับได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 34, 43, 78, 158, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายกล่อม มองมาไพรี บิดาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคแรก จำคุก 3 เดือนและปรับ 9,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาทโทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 291ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก6 ปี ด้วย เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 78, 160 วรรคแรก ซึ่งไม่รอการลงโทษและไม่ปรับแล้วเป็นจำคุก 6 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่ผู้ตายและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็ว และต่างขับรถเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงฟังได้ว่าขับรถโดยประมาททั้งสองฝ่าย ที่จำเลยฎีกาอีกข้อว่า ผู้ตายไม่ใช้ผู้เสียหายตามนิตินัยนั้น เมื่อผู้ตายมีส่วนกระทำผิดด้วยผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตาย ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5(2)โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์ร่วมก็ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน คดีนี้โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม