คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6959/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปุ๋ยเคมีที่จำเลยที่1ผลิตออกจำหน่ายมีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีปริมาณธาตุอาหารรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดตามที่ขึ้นทะเบียนไว้จึงต้องถือว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอมตามพระราชบัญญัติปุ๋ยพ.ศ.2518มาตรา32(5)และเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษเป็นนิติบุคคลจำเลยที่3ผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลย่อมต้องรับโทษตามที่พระราชบัญญัติปุ๋ยพ.ศ.2518มาตรา71บัญญัติไว้เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518มาตรา 30(1)(2), 32(5), 33(1), 34, 62, 63, 64, 65, 71, 72ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบปุ๋ยเคมีของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่า ร่วมกันผลิตและมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 30(1)(2), 32(5), 33(1), 62, 63 วรรคหนึ่ง,64 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง,71, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ความผิดข้อหาผลิตปุ๋ยเคมีปลอมและปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษข้อหาผลิตปุ๋ยเคมีปลอมตามมาตรา 62 ซึ่งเป็นบทหนัก ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี และลงโทษจำเลยทั้งสองข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีปลอมซึ่งเป็นบทหนักกว่าข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานตามมาตรา 63 วรรคหนึ่งปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่าผลิตและมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยทั้งสองข้อหาผลิตปุ๋ยเคมีปลอม ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีปลอม ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 2 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน ของกลางริบ คำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และนางนิวัท สุพรรณคง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าเลขที่ 44/2532 ตามใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าเอกสารหมายจ.2 และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 670/2532ให้เป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเชิงผสม ตราใบมะกรูด สูตรปุ๋ยเคมี 16-8-8หมายถึงมีปริมาณขั้นต่ำของธาตุอาหารหลักร้อยละของน้ำหนักไนโตรเจนทั้งหมด 16 ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ 8 และโปแตชที่ละลายน้ำ 8 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จำเลยที่ 1 ผลิตปุ๋ยเคมีดังกล่าวออกจำหน่ายให้แก่ประชาชน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินกิจการ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ปุ๋ยเคมีกรีนแอนด์โกลด์16-8-8” ตราใบมะกรูด ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานจำนวน 5 กระสอบกระสอบละ 50 กิโลกรัม รวมน้ำหนัก 250 กิโลกรัม และร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานดังกล่าว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมและมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีปลอมหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของนางอภิญญา รุจิธารณวงศ์ นักวิชาการเกษตร 6 กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผู้มีหน้าที่ตรวจและควบคุมผู้ผลิตปุ๋ย ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายทั่วประเทศว่าเมื่อวันที่21 มิถุนายน 2534 พยานได้ไปตรวจโรงงานของจำเลยที่ 1และได้ขอสุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยเคมีที่ผลิตสูตร 16-8-8 ไปตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามสูตรโดยมีปริมาณของธาตุอาหารหลักร้อยละของน้ำหนักไนโตรเจน 12.17ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ 5.63 และโปแตชที่ละลายน้ำ 7.50 ตามหนังสือแจ้งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างปุ๋ยเคมีเอกสารหมาย จ.7ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2534 พยานได้ขอสุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 จากโรงงานของจำเลยที่ 1 ไปตรวจวิเคราะห์อีก ผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามสูตรเช่นกัน โดยมีปริมาณธาตุอาหารหลักร้อยละของน้ำหนักไนโตรเจน 13.54 ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ 7.44 โปแตชที่ละลายน้ำ 7.40 ตามหนังสือแจ้งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างปุ๋ยเคมีเอกสารหมาย จ.9 นอกจากนี้พนักงานสอบสวนได้สุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยเคมีที่ยึดไว้ไปตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่าปริมาณธาตุอาหารหลักเพิ่มขึ้นโดยมีไนโตรเจน13.44 ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ 9.70 โปแตชที่ละลายน้ำ 9.84ตามหนังสือแจ้งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างปุ๋ยเคมีเอกสารหมาย จ.14ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การตรวจวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีทั้งสามครั้งจะมีปริมาณธาตุอาหารหลักแต่ละครั้งแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัยก็ตามแต่ก็เป็นการเห็นได้ว่าปุ๋ยเคมีที่เก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์นั้น ไม่เป็นไปตามสูตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ และในการผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าดังกล่าวทางราชการได้กำหนดเกณฑ์คลาดเคลื่อนของปริมาณธาตุอาหารที่มีในปุ๋ยเคมีทุกชนิดที่อนุญาตให้คลาดเคลื่อน หรือแตกต่างในการนำ การเตรียมการและการวิเคราะห์ตัวอย่างปุ๋ยเคมี เพื่อตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารรับรองตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอกสารหมาย ป.จ.2ไว้แล้ว จำเลยจะอ้างว่าโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีของจำเลยเป็นโรงงานขนาดเล็ก เครื่องมือของจำเลยไม่ทันสมัยค่าธาตุในส่วนประกอบของปุ๋ยเคมีจึงเปลี่ยนแปลงได้ย่อมฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าปุ๋ยเคมีที่จำเลยที่ 1 ผลิตออกจำหน่ายมีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีปริมาณธาตุอาหารรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดตามที่ขึ้นทะเบียนไว้จึงต้องถือว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอมตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 32(5) ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ดำเนินกิจการตามใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าเอกสารหมาย จ.2 แต่จำเลยที่ 2ก็ไม่ได้ผลิตปุ๋ยเคมีในนามของตนเอง หากแต่ผลิตในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าปุ๋ยเคมีที่จำเลยที่ 1 ผลิตขึ้นเป็นปุ๋ยเคมีปลอม จึงเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลย่อมต้องรับโทษตามที่พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 71 บัญญัติไว้เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้นำสืบพิสูจน์ถึงความข้อนี้ทั้งในชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาผลิตปุ๋ยเคมีปลอมตลอดข้อกล่าวหาตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.11พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกัน>ผลิตปุ๋ยเคมีปลอม และมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีปลอม พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share