แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การทำงานนอกเวลาทำงานปกติถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,325 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาแต่ไม่ยอมจ่ายค่าล่วงเวลา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 37,814.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ จ่ายค่าชดเชยจำนวน43,950 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,325 บาทเงินบำเหน็จจำนวน 43,950 บาท ค่าเสียหายจำนวน 439,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2535 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ได้ประพฤติฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยเป็นประจำซึ่งจำเลยเคยลงโทษโจทก์ด้วยการทำทัณฑ์บนและมีหนังสือเตือนหลายครั้งหลังจากลงโทษ โจทก์ไม่ได้ปรับตัวให้ดีขึ้น แต่กลับประพฤติตนฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับของจำเลยหนักขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาประมาณปลายเดือนมกราคม 2535 โจทก์ได้กระทำผิดต่อระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง วันที่ 30 มกราคม 2535 จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนตามระเบียบของจำเลยและโจทก์ยอมรับว่าได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยจริง การกระทำของโจทก์เป็นการผิดระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย ตลอดจนเงินบำเหน็จแก่โจทก์สำหรับค่าล่วงเวลา โจทก์ได้ตกลงกับจำเลยไว้ตั้งแต่วันแรกที่โจทก์เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยแล้วว่า ช่วงเวลาที่โจทก์ขับรถรับผู้จัดการจากบ้านมาทำงานและขับรถรับผู้จัดการจากที่ทำงานกลับบ้านไม่ถือว่าเป็นเวลาทำงาน และให้ถือเป็นเวลาการเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของโจทก์ ส่วนการที่โจทก์ได้ทำงานไปนอกเหนือจากการขับรถรับส่งผู้จัดการ โจทก์ได้เบิกและรับค่าล่วงเวลาไปถูกต้องทุกครั้ง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานขับรถได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,325 บาทเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2535 โจทก์มีอาการมึนเมาสุราจนไม่สามารถขับรถไปส่งผู้บังคับบัญชากลับบ้านได้ตามหน้าที่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวและค่าเสียหาย โจทก์และจำเลยตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.15 ว่า การขับรถรับส่งผู้จัดการจากบ้านมาที่ทำงานและขับรถส่งผู้จัดการจากที่ทำงานกลับบ้านไม่ถือว่าเป็นเวลาการทำงานถือเป็นการเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มีความผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามเอกสารหมาย ล.14 ประกาศเรื่องเงินบำเหน็จของจำเลยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์จำเลยจะตกลงกันว่าการขับรถรับผู้จัดการจากบ้านมาที่ทำงานและขับรถส่งผู้จัดการจากที่ทำงานกลับบ้าน ไม่ถือเป็นเวลาทำงานและให้ถือว่าเป็นเวลาเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของโจทก์ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.15 แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างพนักงานขับรถของจำเลย มีเวลาทำงานตามปกติแน่นอนตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง17 นาฬิกา ศาลฎีกาเห็นว่า ระยะเวลาทำงานที่นอกเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาเป็นจำนวนเท่าใดเป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยมา สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อนี้ใหม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นในเรื่องค่าล่วงเวลาและให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นเรื่องดังกล่าวใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง