คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และตามมาตรา 11 กรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่ได้ระบุให้รวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยไว้ชัดแจ้งในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้ ดังนั้น คำว่า “หนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะและทุกประเภท” ตามสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินรวม 11 แปลง แก่โจทก์ที่ 1 และที่ดินรวม 4 แปลง แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 35403, 35405, 35406, 35408, 36363, 39961, 40269, 40272 และ 40273 ตำบลคลองเปร็ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดินโฉนดเลขที่ 33563, 33380, 37599 และ 41913 ตำบลคลองนราภิรมย์ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และที่ดินโฉนดเลขที่ 31360 และ 31361 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) และส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสอง) โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในชั้นฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยวงเงิน 10,000,000 บาท โดยใช้บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 106 – 0 – 02695 – 6 ในการกู้เบิกเงินเกินบัญชี และทำสัญญามอบเงินฝากเป็นประกันโดยมอบบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน เลขที่ 106 – 2 – 03924 – 9 แก่จำเลยและยินยอมให้จำเลยหักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันที่โจทก์ที่ 1 มีต่อจำเลย ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญามอบเงินฝากเป็นประกัน ต่อมาโจทก์ที่ 1 ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีขอเพิ่มวงเงินอีก 6,000,000 บาท ตามบันทึกต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี โดยโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจำนองที่ดินรวม 14 แปลง ส่วนโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดินรวม 4 แปลง ไว้เป็นประกันต่อจำเลย ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ภายหลังจำเลยปลดจำนองที่ดิน 3 แปลง ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน คงเหลือที่ดินติดจำนองอีก 15 แปลงตามฟ้อง และโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของโจทก์ที่ 1 ในวงเงิน 16,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกัน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบุคคลอื่นที่ทำสัญญากู้ยืมกับจำเลยตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและได้หักเงินฝากจากบัญชีเลขที่ 106 – 2 – 03924 – 9 กับบัญชีเงินฝากอื่นอีก 2 บัญชี โดยนำไปหักจากหนี้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมด และหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันบุคคลอื่นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า สัญญาจำนองตามฟ้องครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นกับจำเลยหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ความหมายของข้อความ “ทุกลักษณะทุกประเภทหนี้” ที่ระบุอยู่ในสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง มีความหมายชัดแจ้งแล้วว่า ต้องรวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยด้วย ทั้งโจทก์ที่ 1 มาขอสินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีเพื่อโครงการจัดสรรที่ดินและขอให้จำเลยให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้ารายย่อยเป็นภาระหนี้เกี่ยวพันกัน และจำเลยไม่อยู่ในวิสัยจะระบุรายละเอียดของการค้ำประกันหนี้ในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งหมดนั้น เห็นว่า ตามบันทึกต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ระบุว่า โจทก์ที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยอีก 6,000,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 16,000,000 บาท ส่วนเงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ คงเป็น ไปตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเดิม เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญานี้โจทก์ทั้งสองยอมนำที่ดินโฉนดเลขที่… ของตนเป็นประกันต่อจำเลยจนกว่าโจทก์ที่ 1 ผู้เบิกเงินเกินบัญชีจะชำระหนี้แก่จำเลยจนครบถ้วน ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ข้อ 1. ที่ระบุว่าโจทก์ที่ 1 ตกลงจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท และรวมถึงหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ข้อ 4 ก็ระบุว่าเป็นการจำนองเพิ่มหลักทรัพย์จำนวนเงินจำนองและข้อตกลงอื่นเป็นไปตามสัญญาจำนอง แต่เมื่อข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1. และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 3 ระบุว่าเป็นประกันหนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะทุกประเภทหนี้ กรณีจึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และตามมาตรา 11 กรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่ได้ระบุให้รวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยไว้ชัดแจ้งในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้ หนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะและทุกประเภทจึงหมายถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share