คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13797/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 และข้อ 17 ระบุให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน กรณีที่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดจะจ่ายเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับความตายของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และตัวผู้รับเป็นทายาทของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน แต่บำเหน็จดำรงชีพตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3, 4 และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1, 49 วรรคสอง เป็นเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว เมื่อผู้รับบำนาญที่รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วถึงแก่ความตาย การจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทให้หักเงินที่จะได้รับเท่ากับบำเหน็จดำรงชีพออกจากบำเหน็จตกทอดเสียก่อน บำเหน็จดำรงชีพจึงไม่ใช่บำเหน็จตกทอดตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติสำหรับกรณีผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายให้จ่ายบำเหน็จตกทอดให้ทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 48 บำเหน็จดำรงชีพจึงแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเอง แต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดที่จำเลยจะต้องจ่ายตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 จึงมีหลักเกณฑ์การจ่ายโดยอนุโลมเช่นเดียวกับการจ่ายบำเหน็จตกทอด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ให้มีการจ่ายเงินในลักษณะเดียวกับการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 คือจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในขณะที่ยังมีชีวิต จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นอดีตผู้ปฏิบัติงานของจำเลย มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน (หรือเงินบำนาญ) จากจำเลยเดือนละ 16,673.60 บาท ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 16 ข้อ 17 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 46 ระบุว่าเมื่อโจทก์แต่ละคนถึงแก่ความตาย จำเลยจะจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โจทก์ยื่นแบบแสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพต่อคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 คดีที่อดีตผู้ปฏิบัติงานของจำเลยฟ้องขอให้จำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพพร้อมดอกเบี้ยศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5061-6076/2551 ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับของคู่ความพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5061-6076/2551 วินิจฉัยว่า โจทก์แต่ละคนที่แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพโดยอนุโลมตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 แล้ว ย่อมเกิดสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยในการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ และในการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์แต่ละคนต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1 วรรคหก ด้วย กล่าวคือจำเลยต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทของโจทก์ที่ถึงแก่ความตาย รวมทั้งการช่วยเหลืออื่นตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกประการหนึ่ง ทั้งถือว่าโจทก์ที่ยังไม่ได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพและโจทก์ในสำนวนคดีอื่นที่ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพและผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพที่ยังไม่ได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพหรือยังไม่ได้ฟ้องแต่แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพ มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53 จึงกำหนดให้คำพิพากษาผูกพันบุคคลดังกล่าวและจำเลยด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพแก่โจทก์แต่ละคนที่ได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้จำนวน 15 เท่า ของเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 200,000 บาท กับให้คำพิพากษาผูกพันผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1 และข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับจำเลย และให้คำพิพากษาสิ้นผลบังคับเมื่อโจทก์หรือผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพผู้หนึ่งผู้ใดตายก่อนได้รับบำเหน็จดำรงชีพ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ และโจทก์แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้แล้ว คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5061-6076/2551 จึงผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้ด้วย ต้องถือตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จดำรงชีพแก่โจทก์ซึ่งได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 47/1 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 ในจำนวน 15 เท่า ของเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 200,000 บาท คำขออื่นให้ยก กับให้คำพิพากษานี้สิ้นผลบังคับเมื่อโจทก์ตายก่อนได้รับบำเหน็จดำรงชีพ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่าจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เคยเป็นลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานของจำเลย ครบกำหนดเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 และได้รับบำนาญเดือนละ 16,673.60 บาท ตลอดมา วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546 มีผลใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับบัญญัติให้มีการจ่าย “บำเหน็จดำรงชีพ” จำเลยจัดให้มีกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 46 และออกข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
มีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความรับกันว่า ในการสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 16 และข้อ 17 ระบุให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และในกรณีที่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนถึงแก่ความตายให้กองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโดยอนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการทุกประการ ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดจะจ่ายเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับความตายของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน อันเป็นการทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน และระบุตัวผู้รับไว้ว่าเป็นทายาทของผู้ที่ได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน แต่ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 3 บัญญัติให้เพิ่มความเป็นลักษณะ 2/1 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งได้เพิ่มความเป็นมาตรา 47/1 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บำเหน็จดำรงชีพ ได้แก่ เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว และวรรคสองบัญญัติให้ผู้รับบำนาญมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพแต่ต้องไม่เกิน 15 เท่า ของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ กับมาตรา 4 ให้เพิ่มความเป็นวรรคสองของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อผู้รับบำนาญที่รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้วถึงแก่ความตาย การจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทให้หักเงินออกจากบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับเท่ากับเงินบำเหน็จดำรงชีพเสียก่อน บำเหน็จดำรงชีพตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 จึงไม่ใช่บำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติสำหรับกรณีผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้ทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 48 เป็นจำนวน 30 เท่า ของบำนาญรายเดือน บำเหน็จดำรงชีพแตกต่างจากบำเหน็จตกทอดทั้งตัวผู้รับคือบำเหน็จดำรงชีพจ่ายให้ตัวผู้รับบำนาญเอง แต่บำเหน็จตกทอดจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ได้รับบำนาญถึงแก่ความตายแล้ว และบำเหน็จดำรงชีพเป็นการเร่งระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้เร็วขึ้นจากที่ทยอยจ่ายตามอายุขัยของผู้ได้รับบำนาญมาเป็นการจ่ายตามคำขอของผู้รับบำนาญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอรับบำเหน็จดำรงชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 (ใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดี) ดังนั้นเงินสงเคราะห์ตกทอดที่จำเลยจะต้องจ่ายตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 จึงมีหลักเกณฑ์การจ่ายโดยอนุโลมเช่นเดียวกับการจ่ายบำเหน็จตกทอดคือจ่ายเป็นจำนวน 30 เท่า ของเงินสงเคราะห์รายเดือนให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิหลังจากผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ให้มีการจ่ายเงินในลักษณะเดียวกับการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 คือจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในขณะที่ยังมีชีวิต จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share