คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1-3/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้
หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ
การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212
การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 – 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก
การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า ผู้ร้อง และเรียกนายทนง ว่า ผู้คัดค้านทั้งสามสำนวน
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามบัญชีทรัพย์สิน จำนวน 43 รายการ มูลค่าประมาณ 6,790,900 บาท พร้อมดอกผลในสำนวนแรก ตามบัญชีทรัพย์สิน จำนวน 14 รายการ มูลค่าประมาณ 13,612,526 บาท พร้อมดอกผลในสำนวนที่สอง และตามบัญชีทรัพย์สิน จำนวน 2 รายการ มูลค่าประมาณ 2,855,250 บาท พร้อมดอกผลในสำนวนที่สาม ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามสำนวนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินตามบัญชีทรัพย์สิน จำนวน 43 รายการ ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.39/2550 ที่ดินตามบัญชีทรัพย์สิน จำนวน 14 รายการ ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2550 และที่ดินตามบัญชีทรัพย์สินรายการลำดับที่ 7 และลำดับที่ 8 ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.94/2550 ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นคดีรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อประมาณปี 2539 ผู้คัดค้านถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพและทำบันทึกสัญญารับผิดกับสำนักงานอัยการแขวงเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ในข้อหาความผิดฐานสมคบวางแผนร่วมกันลักลอบนำกัญชาเข้าสหรัฐอเมริกา และศาลแขวงเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย แผนกนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาจำคุกผู้คัดค้าน 4 ปี แต่ผู้คัดค้านถูกควบคุมตัวมาพอแก่โทษแล้ว จึงให้ปล่อยตัวโดยการภาคทัณฑ์และให้เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาภายใน 24 ชั่วโมง ผู้คัดค้านเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ครั้นวันที่ 11 ตุลาคม 2550 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ตรวจค้นและจับกุมผู้คัดค้านกับพวกในข้อหามียาเสพติดให้โทษ (ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพในข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้าน เป็นที่ดิน 43 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 9673, 9677, 9678, 9679, 9680, 7612, 7613, 7614, 7620, 7678, 7710, 7757, 9671, 9676, 9681, 13161, 13162, 13163, 13164, 13165, 13167, 18601, 18602, 18603, 18604, 18605, 18606, 18608, 18609, 18610, 18611, 18612, 18613, 18614, 18615, 18616, 18618 และ 18619 น.ส. 3 ก. เลขที่ 2226, 1403 และ 1404 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2430 และ 2551 ของผู้คัดค้าน รวมมูลค่า 6,790,900 บาท และที่ดินเพิ่มเติม 14 แปลง คือ น.ส. 3 ก. เลขที่ 240, 239, 67, 27, 63, 1513, 50, 4296, 1122, 3941, 4295, 4649, 4297 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7756 ของผู้คัดค้าน รวมมูลค่า 13,612,526 บาท และที่ดินเพิ่มเติมอีก 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 15273 และ 15236 ของผู้คัดค้าน รวมมูลค่า 2,855,250 บาท พร้อมดอกผล โดยเห็นว่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (1) โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็นเช่นเดียวกัน จึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณา พนักงานอัยการจึงยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ที่ดินและที่ดินเพิ่มเติมดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ที่ดินและที่ดินเพิ่มเติม รวม 59 รายการ ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องหรือไม่ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภท ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงินเพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเหล่านั้น และโดยที่กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติว่า ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว ทั้งนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่หากมีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเห็นว่าผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยลักลอบส่งกัญชาไปยังสหรัฐอเมริกา และยังถูกดำเนินคดีในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) มิใช่ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ได้ นอกจากนี้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็สามารถมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สองมีว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตกอยู่ภายใต้บังคับกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไปโดยบังคับให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันมิให้มีการใช้หรือนำทรัพย์สินนั้นเป็นทุนใช้ในการกระทำความผิดอีก ทั้งนี้ก็เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ซึ่งเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้ได้ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นจะต้องกระทำภายในอายุความ แต่คดีตามคำร้องของผู้ร้องมิใช่การใช้บังคับสิทธิเรียกร้องจึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สามมีว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 โดยไม่มีอายุความ และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปได้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร และขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านเพื่อที่ผู้ร้องจะได้มีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินที่ไม่มีอายุความนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212 ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 – 41/2546 วินิจฉัยไว้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะทางแพ่ง โดยมีเหตุผลมาจากหลักการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ หลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของรัฐ ทำให้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดโดยให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแต่อย่างใด ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลบังคับใช้ของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในทั้งสองปัญหาดังกล่าวจึงหาใช่การไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมตามที่ผู้คัดค้านอ้าง ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างในฎีกาอีกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับในอนาคตเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับย้อนหลังนั้นบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหมดในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ทรัพย์สินตามคำร้องทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดินนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share