แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกเฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอ ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายไพศาล และนางกิมเจ็ง ผู้ตายทั้งสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายไพศาล ผู้ตายแทนนายสมชาย และเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมเจ็ง ผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายเกรียงศักดิ์ ผู้ร้องและนายชูชัย ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายไพศาล และนางกิมเจ็ง ผู้ตายทั้งสองร่วมกัน ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายเกรียงศักดิ์ ผู้ร้องเพียงผู้เดียว เป็นผู้จัดการมรดกของนายไพศาล และนางกิมเจ็ง ผู้ตายทั้งสองตามข้อกำหนดในพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน นายเกรียงไกร นายสมชาย นางสาวสิริกุล นายชูชาติ นางมาลี นางเอื้อมพร (ถึงแก่ความตาย) และนายโชคดี รวม 9 คน เป็นบุตรของนายไพศาล ผู้ตายที่ 1 และนางกิมเจ็ง ผู้ตายที่ 2 ผู้ตายที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนด 6 แปลง และผู้ตายทั้งสองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดตราจองอีก 1 แปลง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2523 ผู้ตายทั้งสองร่วมกันทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองโดยมีข้อกำหนดในพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งสอง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2526 ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนายสมชายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ 1 ต่อมานายสมชายถอนตัวออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก วันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า หลังจากผู้ตายทั้งสองทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ต่อมาผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ 1 ตกทอดแก่ผู้ตายที่ 2 เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2557 ผู้ตายที่ 2 ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยตัดผู้ร้องมิให้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 ผู้ร้องจึงมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ 2 ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก และไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก หากผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย นั้น เห็นว่า ตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทั้งสองทำขึ้น มิได้มีข้อความว่าเมื่อผู้ทำพินัยกรรมคนใดถึงแก่ความตายก่อน ให้ทรัพย์มรดกตกแก่ผู้ทำพินัยกรรมอีกคนหนึ่งแต่อย่างใด ส่วนที่พินัยกรรมดังกล่าว ข้อ 1 ระบุความว่า ให้ทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมที่ถึงแก่ความตายก่อนตกอยู่ในความปกครองควบคุมดูแลของผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ผู้เดียว โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมซึ่งยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิใช้สอย เก็บกิน เก็บผลประโยชน์หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งถึงแก่ความตายก่อน และห้ามมิให้บุตรหรือทายาทคนใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือครอบครองหรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมที่ถึงแก่ความตายก่อนนั้น ก็เป็นเพียงระบุให้สิทธิในการทำประโยชน์ในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมที่ถึงแก่ความตายก่อนคือผู้ตายที่ 1 แก่ผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่คือผู้ตายที่ 2 เท่านั้น มิใช่การระบุยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ 1 แก่ผู้ตายที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวแต่อย่างใด และต้องถือว่าผู้ตายที่ 2 ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ 1 แทนทายาทของผู้ตายที่ 1 ดังนี้จึงยังคงมีทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ 1 ที่ผู้ร้องจะดำเนินการจัดการตามพินัยกรรม ผู้ร้องจึงร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ 1 ตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองได้ ทั้งพินัยกรรมระบุตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายไพศาล ผู้ตายที่ 1 เพียงผู้เดียวจึงชอบแล้ว
ส่วนที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น เห็นว่า ไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือ ผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลัง เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก เฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตามมาตรา 1713 ส่วนผู้คัดค้านเป็นทายาทผู้ที่รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 จึงสมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้ตั้งผู้ร้องเพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมเจ็ง ผู้ตายที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาอื่นของผู้คัดค้านไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายชูชัย ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว เป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมเจ็ง ผู้ตายที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ