คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 12 เมษายน 2527 โจทก์ลงชื่อทราบคำสั่งแล้ว ครั้นถึงวันนัดโจทก์ไม่มาศาล ศาลสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 24 เมษายน 2527 โดยให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้โจทก์ทราบหน้าศาล ดังนี้ เมื่อกำหนดเวลามิได้ล่วงพ้นไปสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศตามที่ระบุไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 การอ่านคำพิพากษาในวันที่ 24 เมษายน 2527 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจะถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาแล้วไม่ได้
โจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษาวันที่ 15 มิถุนายน 2527 และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาก่อนวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาในวันที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษา ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันนั้นจึงชอบแล้ว
ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินโจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกถนนสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยโดยพลการ โดยมิได้ขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากจำเลย จึงเป็นการใช้เพื่อตน เมื่อได้ใช้ทางพิพาทมาเกิน 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกกับจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินติดต่อกัน คนที่อยู่ในที่ดินของโจทก์ใช้ทางเข้าออกออกถนนสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยเป็นทางกว้าง 2.40 เมตร ยาว10 เมตร ติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ด้วยความสงบและเปิดเผย ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยปิดทางภาระจำยอมดังกล่าว ขอศาลพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยภายในเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยไปจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามบนทางภาระจำยอมออกไป ถ้าไม่ปฏิบัติให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนเองโดยจำเลยต้องออกค่าใช้จ่ายจำนวน 3,000 บาท ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางภาระจำยอมต้องลดหรือเสื่อมความสะดวก
จำเลยให้การว่า คนในที่ดินของโจทก์ถือวิสาสะขออาศัยที่ดินของจำเลยเดินผ่านไปออกถนนสาธารณะ ที่ดินของจำเลยจึงมิได้ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามกฎหมาย ทางเดินที่ผู้เช่าที่ดินของโจทก์ถือวิสาสะเดินผ่านออกสู่ถนนสาธารณะนี้ กว้างไม่เกิน 75 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 8 เมตร เมื่อเดือนตุลาคม 2525 คนในที่ดินของโจทก์ร่วมกันบุกรุกที่ดินของจำเลยโดยเทปูนซีเมนต์บนทางที่ถือวิสาสะเดินผ่าน ตามแนวเสาและลวดหนามซึ่งมิได้เคยเป็นทางเดินมาก่อน คนในที่ดินของโจทก์ไม่เคยใช้เดินมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังฝ่ายเดียว จำเลยแก้อุทธรณ์คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วและฟังว่าทางพิพาทกว้าง 2.40 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นทางภาระจำยอม พิพากษากลับว่า ที่ดินของจำเลยภายในเส้นสีแดง กว้าง 2.40 เมตร ยาว 10 เมตร ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยไปจดทะเบียน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามบนทางภาระจำยอมออกไป ถ้าไม่ปฏิบัติให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนเอง โดยจำเลยเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 3,000บาท ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางภาระจำยอมต้องลดหรือเสื่อมความสะดวก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบเพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติให้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ไม่มีบทใดบัญญัติให้ยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำพิพากษา อีกประการหนึ่งในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นวันที่22 มีนาคม 2527 ที่นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 12 เมษายน 2527 โจทก์ลงชื่อทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว ครั้นถึงวันนัดโจทก์ไม่มาศาล ก็ต้องถือว่าโจทก์ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนั้นซึ่งสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปวันที่ 24 เมษายน 2527นั้น เห็นว่าในวันที่ 12 เมษายน 2527 ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้โจทก์ทราบหน้าศาล ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการปิดประกาศแจ้งนัดให้โจทก์ทราบที่หน้าศาลนั้น กำหนดเวลามิได้ล่วงพ้นไปสิบห้าวันนับแต่วันที่ปิดประกาศตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 เมื่อเป็นเช่นนี้จะถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านเมื่อวันที่24 เมษายน 2527 แล้วไม่ได้ โจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษาวันที่ 15 มิถุนายน 2527 และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาก่อนวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาในวันที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษา ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว และกรณีนี้ไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือเสียสิทธิแต่ประการใดประกอบกับศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยเนื้อหาของคดีมาแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาใหม่อีก ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่นัดอ่านคำพิพากษาไว้ในตอนแรกแล้ว ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป ก็ต้องถือว่าโจทก์ทราบรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนั้นด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป ก็จะต้องแจ้งวันนัดให้โจทก์ทราบ จะถือว่าโจทก์ทราบวันนัดที่เลื่อนไปไม่ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า ทางพิพาทมิได้เป็นทางภาระจำยอมนั้น คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า คนที่อาศัยอยู่ในที่ดินโจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกถนนสาธารณะเทศบาล 10 เกิน 10 ปีแล้วคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามคำให้การต่อสู้ของจำเลยว่าการใช้ทางพิพาทดังกล่าวเป็นการถือวิสาสะหรือได้รับอนุญาตจากฝ่ายจำเลยหรือไม่…ฯลฯ…ฟังได้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยพลการ โดยมิได้ขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากบิดาจำเลยหรือจำเลย จึงเป็นการใช้เพื่อตน และได้ใช้ทางพิพาทมาเกือบ 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ…’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้โจทก์รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามเอง โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share