คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ให้มีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติเป็นข้อจำกัดว่าหากศาลเห็นว่ายังไม่สมควรริบของกลาง จะสั่งได้แต่เพียงว่าไม่ริบของกลางอย่างเดียว อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นของจำเลยและไม่ใช่ของที่มีไว้โดยผิดกฎหมาย เมื่อโจทก์ขอให้ริบ ศาลเห็นว่าไม่สมควรริบก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้คืนจำเลยได้ ถึงแม้จะสั่งแต่เพียงว่าไม่ริบของกลาง ก็คงมีผลว่า จะต้องคืนของกลางให้แก่จำเลยผู้เป็นเจ้าของเช่นกัน กรณีเช่นนี้หาใช่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอดังโจทก์ฎีกาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจพาอาวุธปืนลูกซองยาวเลขทะเบียน ก.ท. ๑๘๖๒๖๘๔ ๑ กระบอก พร้อมกระสุนปืนเบอร์ ๑๒ จำนวน ๒๒ นัด ของจำเลยติดตัวไปในทางสาธารณะและหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยไมได้รับอนุญาต ฯลฯ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนฯ ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก ๓ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนของกลางแก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังไม่สมควรริบของกลาง ก็ชอบที่จะสั่งไว้ในคำพิพากษาแต่เพียงว่าไม่ริบของกลางเท่านั้น ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้คืนของกลางแก่จำเลย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอของโจทก์ ต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖(๙) ให้มีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางเท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นข้อจำกัดว่าหากศาลเห็นว่ายังไม่สมควรริบของกลางจะสั่งได้เพียงว่าไม่ริบของกลางอย่างเดียว คดีนี้ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นของจำเลยและไม่ใช่ของที่มีไว้โดยผิดกฎหมาย เมื่อโจทก์ขอให้ริบ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่สมควรริบก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้คืนแก่จำเลยได้ ถึงแม้จะสั่งแต่เพียงว่าไม่ริบของกลาง ก็คงมีผลว่า จะต้องคืนของกลางให้แก่จำเลยผู้เป็นเจ้าของเช่นกัน กรณีหาใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนหรือมีคำสั่งเกินคำขอดังโจทก์ฎีกาไม่
พิพากษายืน.

Share