แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาเรื่องอายุความ ผู้ร้องมิได้กล่าวแก้เป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ เมื่อผู้ร้องฎีกาในปัญหาเรื่องอายุความศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 119 วรรค 3 ไม่ได้บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นคู่ความ ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 145(4)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาว่า การทวงหนี้และยืนยันหนี้รายพิพาท ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำต่อผู้ร้องเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและให้ผู้ร้องพ้นจากการเป็นลูกหนี้ของจำเลย เพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างและการทวงหนี้ขาดอายุความ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การทวงหนี้และยืนยันหนี้ชอบแล้วและหนี้ยังอยู่ในอายุความที่จะเรียกร้องได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำหน่ายผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าให้ผู้ร้องชำระหนี้ 1,942,278.57 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ร้องต่างฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ค่าก่อสร้างที่บริษัทจำเลยได้ก่อสร้างไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 1,942,278.57 บาท และวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าสัญญาจ้างเหมาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทจำเลยลงวันที่ 24 มีนาคม 2512 ข้อ 18 มีข้อความว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับจ้าง และเมื่อเลิกสัญญาแล้วสิ่งของและสัมภาระของผู้รับจ้างที่มีอยู่ ณ ที่ทำงานจ้างต้องตกเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น โดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดตามข้อสัญญานั้น เห็นว่าในชั้นปฏิเสธหนี้ก็ดี ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี ผู้ร้องมิได้ยกประเด็นข้อสัญญานี้ขึ้นต่อสู้ ทั้งในคำร้องที่ยื่นต่อศาลผู้ร้องก็มิได้กล่าวเป็นประเด็นมาในคำร้องจึงเป็นเรื่องนอกคำร้องและนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ผู้ร้องฎีกาว่าสิทธิเรียกร้องรายนี้ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ ผู้ร้องมิได้กล่าวแก้เป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น เพราะเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 145(4) ซึ่งผู้ร้องได้คัดค้านเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์แล้วนั้นเห็นว่ากรณีเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119 วรรค 3 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันนั้นคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้ศาลพิจารณา ถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ให้มีคำสั่งให้จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าให้คำสั่งของศาลเป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นคู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 145(4)
พิพากษายืน