คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2872/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ 2 ฉบับเพื่อชำระหนี้โจทก์โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ด้วย จำเลยได้ชำระต้นเงินตามตั๋วเงินแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทเพื่อชำระดอกเบี้ยดังกล่าว พร้อมกับกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อีกด้วยถือว่าจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทกลายเป็นหนี้ใหม่และเป็นเงินต้น โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินจำนวนนี้หาใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 จำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยค้างชำระให้แก่โจทก์ จำนวนเงิน3,287,932.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระเงินวันที่ 30 มีนาคม 2530 ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2529จำเลยได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินจากโจทก์ เพื่อนำไปให้ธนาคารอาวัลตั๋วให้แก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ดำเนินการ และเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยมิได้ใช้เงินตามตั๋วให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วพร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวถึงวันฟ้อง เป็นเงินดอกเบี้ย863,690.42 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,151,623.26 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน3,287,932.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ขอยืมตั๋วสัญญาใช้เงินจากโจทก์ไปเพื่อให้ธนาคารทำการอาวัลตั๋วแต่อย่างใด โจทก์เต็มใจสละการครอบครองตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โจทก์อ้างว่าจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเพื่อชำระดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระและโจทก์ยังขอให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าวอีกซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 4,151,623.26 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 3,287,932.84บาท นับถัดจากวันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ 2 ฉบับกำหนดวันชำระเงินและดอกเบี้ยไว้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดแล้ว จำเลยได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์แต่ยังไม่ได้ชำระดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทเพื่อชำระดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 3,287,932.84 บาท ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี สัญญาจะใช้เงินในวันที่ 30 มีนาคม 2530 และต่อมาตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวตกไปอยู่ที่จำเลย โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ได้สละการครอบครองตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทแล้ว จึงไม่เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้สละการครอบครองตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทโจทก์ยังคงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนในปัญหาที่ว่า โจทก์จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากต้นเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทตามที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทจะออกเพื่อชำระดอกเบี้ยของหนี้เดิมที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนก็ตาม เมื่อจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้นั้น จำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงกลายเป็นหนี้ใหม่ และเป็นเงินต้นไปเสียแล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินจำนวนนี้ หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยไม่”
พิพากษายืน

Share