แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 89, 102 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 77 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ. 2529 มาตรา 6 แสดงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้ง ดังนี้ แม้ตามคำร้องของผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ได้รับเลือกตั้งได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้เลือกตั้งใหม่เท่านั้น ไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนบุคคลอื่น
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ นายประโภชณ์ สภาวสุ ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบ เพราะกรรมการตรวจนับคะแนนจงใจนับคะแนนของนายประโภชณ์ให้มากกว่าความจริง นับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบัตรดีให้เป็นบัตรเสีย และแก้ไขรายงานแสดงผลการนับคะแนนให้ผิดไปจากความจริง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศว่านายประโภชณ์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎานั้นเป็นการไม่ชอบ ให้ประกาศใหม่ว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร หากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องเคลือบคลุม การตรวจนับคะแนนและการประกาศผลเป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลจังหวัดศรีสะเกษพิจารณาคำร้องและคำคัดค้านแล้วงดการไต่สวน และทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่านายประโภชณ์ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ ๓ ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎา พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ เท่านั้น ผู้ร้องซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ ๔ ไม่มีสิทธิร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดศรีสะเกษแทนนายประโภชณ์ผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ ๓ แต่อย่างใด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเช่นนั้นได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๘๙ และมาตรา ๑๐๒ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแต่วันเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๙ มาตรา ๖ บัญญัติไว้มีข้อความสำคัญว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้เทนราษฎรจะต้องเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากที่สุด ในกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง เช่นนี้ แสดงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้ง ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะอ้างเหตุประการอื่นอีกว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้แก้ไขเอกสาร ส.ส.๔ (รายงานแสดงผลการนับคะแนน) และ ส.ส.๕ (ประกาศผลการนับคะแนน) ที่ส่งไปจังหวัดให้ผิดไปจากความจริง ศาลก็ไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องได้แต่ประการใด ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำร้องเคลือบคลุมหรือไม่
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ