คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้ฟังเป็นยุติได้แล้ว ศาลมีอำนาจสั่งงดสืบพยานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 และอำนาจในการวินิจฉัยว่าตามคำฟ้อง คำให้การ และคำรับของคู่ความข้อเท็จจริงเป็นอันเพียงพอยุติได้หรือไม่เป็นอำนาจของศาลเมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจว่าเพียงพอยุติได้แล้ว การฎีกาโต้เถียงว่ายังไม่ควรยุติเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การว่าไม่เคยเข้าไปกระทำการใดในที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยเองไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ครั้งแรกศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่เป็นการกำหนดตามข้ออ้างและข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การของโจทก์และจำเลย ซึ่งต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ อันตรงกับประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดในครั้งแรกแล้วจึงวินิจฉัยตามข้ออ้างในฟ้องโจทก์ว่าจำเลยบุกรุกที่พิพาทหรือไม่ โดยต้องวินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์และจำเลยว่าฝ่ายใดมีสิทธิดีกว่ากันด้วยดังนี้ การวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดใหม่ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจากเดิม และการกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสองแล้ว ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท อย่างคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามตาราง 1(2)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1309 และ 1312 จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและโค่นพืชผลซึ่งเป็นยางพารา แล้วจำเลยทั้งสองปลูกยางพาราขึ้นใหม่ในที่ดินทั้งสองแปลง ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ายุ่ง เกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า
ข้อ 1. จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปกระทำการใดในที่ดินของโจทก์แต่จำเลยทั้งสองทำประโยชน์โดยโค่นต้นยางพารา และปลูกยางพาราขึ้นใหม่ในที่ดินจำเลยทั้งสองเอง ที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นของบิดาจำเลยทั้งสองซึ่งได้แจ้งการครอบครองและออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว จำเลยทั้งสองยังมิได้ร่วมกระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อ 2. การได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์ได้มาโดยไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบมาก่อนจดทะเบียนซื้อที่พิพาททั้งสองแปลงแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของต่อมาโดยต่อเนื่องจากบิดาจำเลยทั้งสองจนถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปีโจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่า จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน จำเลยทั้งสองแถลงว่า คำให้การในข้อ 2 วรรคแรก ขอสละไม่ถือเป็นคำให้การ ส่วนโจทก์แถลงยอมรับว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงเดือนละ 500 บาท ตรงตามที่จำเลยทั้งสองให้การไว้
วันที่ 27 กันยายน 2532 ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง และสั่งว่าจำเลยทั้งสองกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และคู่ความแถลงร่วมกันว่าที่พิพาทมีราคา 120,000 บาท จึงให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ดังกล่าว สั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 กันยายน 2532 ครั้งถึงวันนัดศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนเฉพาะการชี้สองสถาน และคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 กันยายน 2532 โดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินโจทก์หรือไม่ และนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไป
ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลย โจทก์จำเลยทั้งสองตรวจดูแผนที่พิพาทแล้วแถลงว่า แผนที่พิพาทรวมทั้งข้อความทั้งหมดในแผนที่พิพาทถูกต้องและที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองและหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1309 และ 1312 ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากที่ดินโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานไม่ชอบ เพราะโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างก็โต้เถียงกันว่าที่พิพาทเป็นของตน ตามแผนที่พิพาทที่คู่ความรับรองความถูกต้องนั้นก็รับรองเพียงว่าที่ดินอยู่บริเวณไหนเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้รับว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ประเด็นแห่งคดีที่โต้เถียงกันว่าที่พิพาทเป็นของใครจึงยังไม่ยุติ เห็นว่าศาลมีอำนาจงดสืบพยานได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้ฟังเป็นยุติได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 และอำนาจในการวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้อง คำให้การและคำรับของคู่ความเป็นอันเพียงพอยุติได้หรือไม่เป็นอำนาจของศาล เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจว่าเพียงพอยุติได้แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงว่ายังไม่ควรยุติย่อมเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงคดีนี้มีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาโดยเห็นว่าเป็นฎีกาข้อกฎหมายไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เห็นว่าแม้ครั้งแรกศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง แล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอน และกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ แต่คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 2 แปลง ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าว ได้โค่นยางพาราและปลูกยางพาราขึ้นใหม่ในที่ดินทั้งสองแปลง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่เคยเข้าไปกระทำการใดในที่ดินของโจทก์ทั้งไม่เคยโค่นยางพาราในที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองโค่นยางพาราและปลูกยางพาราในที่ดินของจำเลยทั้งสองเอง หาใช่ที่ดินของโจทก์ตามฟ้องไม่ ที่ดินของจำเลยทั้งสองเดิมเป็นที่ดินของบิดาจำเลยทั้งสองซึ่งได้แจ้งการครอบครองและได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ท้ายคำให้การ เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง จึงเห็นได้ว่าการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทตามข้ออ้างและข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การของโจทก์จำเลยทั้งสองนั่นเอง และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์แล้วก็ต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างในฟ้องโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกที่พิพาทหรือไม่โดยจะต้องวินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์และจำเลยทั้งสองในที่พิพาทว่าฝ่ายใดมีสิทธิดีกว่ากันด้วย ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ท้ายคำให้การ แต่ปรากฎตามแผนที่พิพาทซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองรับรองความถูกต้องว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ เมื่อฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยตรงกับประเด็น ข้อพิพาทที่ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ศาลชั้นต้นกำหนดในครั้งแรกนั่นเอง ดังนั้นการวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดใหม่ก็หาทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงจากเดิมไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสองแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่เท่านั้นซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท อย่างคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (2)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 3,000 บาท เกินอัตราตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรคืนส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลขั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสอง

Share