คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7319-7320/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ตอนท้ายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2558) นับแต่วันที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องนั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 4 ธันวาคม 2558 และคำพิพากษามีข้อความแตกต่างไปจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งไม่อาจกระทำได้ ทั้งศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นการไม่ชอบเพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่เป็นหน้าที่ของศาลต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 30,495,358.76 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านไม่ยื่นคำคัดค้าน
วันนัดไต่สวนวันที่ 28 มีนาคม 2559 ผู้คัดค้านไม่มาศาลตามกำหนดนัด
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องแล้ว นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 เมษายน 2559 เวลา 13.30 นาฬิกา
ต่อมาในวันเดียวกัน ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับ คำคัดค้านซึ่งยื่นมาพร้อมกับคำร้องดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นคำคัดค้านว่า สั่งในคำคัดค้าน และมีคำสั่งในคำคัดค้านว่า ศาลพิจารณาคดีตามเวลานัดจนแล้วเสร็จ และทนายผู้ร้องเดินทางกลับไปแล้ว ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นคำคัดค้าน จึงไม่รับคำคัดค้าน เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าจ้างแก่ผู้ร้องจำนวน 12,359,092.77 บาท และค่าจ้างค่ายึดหน่วงจำนวน 10,293,560.55 บาท และชำระดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2558) อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,652,653.32 บาท นับแต่วันที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องแล้วนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 28 มีนาคม 2559 เวลา 8.30 นาฬิกา กำหนดให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมาย เจ้าพนักงานศาลชั้นต้นนำหมายนัดและสำเนาคำร้องไปส่งให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2559 โดยวิธีปิดหมาย วันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านไม่เข้าห้องพิจารณา ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าผู้คัดค้านไม่มาศาลแล้วไต่สวนพยานผู้ร้องไปจนเสร็จ นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 เมษายน 2559 เวลา 13.30 นาฬิกา วันเดียวกันเวลา 9.55 นาฬิกา ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำคัดค้านและยื่นคำคัดค้านมาพร้อมกับคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านและพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อแรกว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาหมายนัดซึ่งออกตามคำสั่งศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมาย เจ้าพนักงานศาลชั้นต้นนำหมายนัดและสำเนาคำร้องไปส่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ภูมิลำเนาตามคำร้องโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2559 ซึ่งผู้คัดค้านต้องยื่นคำคัดค้านภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 แต่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านในวันที่ 28 มีนาคม 2559 หลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเสร็จแล้ว จึงเป็นการยื่นคำคัดค้านเกินกำหนด ผู้คัดค้านจะยื่นคำคัดค้านได้ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำคัดค้านเสียก่อน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นคำคัดค้านว่า สั่งในคำคัดค้าน และมีคำสั่งในคำคัดค้านว่า ศาลพิจารณาคดีตามเวลานัดจนแล้วเสร็จ และทนายผู้ร้องเดินทางกลับไปแล้ว ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นคำคัดค้าน จึงไม่รับคำคัดค้าน ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้ว ศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านอีก เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำคัดค้านและมิใช่คำสั่งไม่รับคำคัดค้าน อันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แต่เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อที่สองว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีทุนทรัพย์กว่า 22,652,653.32 บาท จึงอยู่ในอำนาจพิพากษาของผู้พิพากษาสองคน แต่ในวันที่ 28 มีนาคม 2559 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาเพียงคนเดียวตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 4 การพิจารณาคดีจึงไม่ชอบ เป็นผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ขณะที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำคัดค้านและคำคัดค้านต่อศาลหลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ผู้คัดค้านย่อมไม่ทราบว่ามีผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีกี่คน และเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 4 เป็นสำเนารายงานกระบวนพิจารณามิใช่ต้นฉบับ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าคดีนี้มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีเพียงคนเดียวดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ เมื่อตามคำเบิกความพยานผู้ร้องและต้นฉบับรายงานกระบวนพิจารณาในสำนวนคดีมีผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้ จึงต้องฟังว่าในวันดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อที่สามว่า ขณะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการนายบาร์โทโลเมียส ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นายบาร์โทโลเมียส จึงเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถ ไม่อาจลงลายมือชื่อในสัญญาอนุญาโตตุลาการแทนผู้คัดค้านได้ สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เห็นว่า อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำคัดค้านไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างในอุทธรณ์ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ผู้ร้องไม่ได้นำต้นฉบับหรือสำเนาสัญญาอนุญาโตตุลาการทั้งหมดพร้อมคำแปลมาแสดงต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าผู้ร้องมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ร้อง ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งที่จะอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดยมิได้ให้สถาบันผู้สำรวจรังวัดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกำหนดและคัดเลือกผู้ระงับข้อพิพาทตามมาตรฐานเป็นผู้ระงับข้อพิพาทเสียก่อน และผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวการแต่งตั้งผู้ระงับข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านทราบตามภูมิลำเนาใหม่ ทั้งมิได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบภายใน 4 สัปดาห์ นับแต่วันครบกำหนดที่ผู้คัดค้านจะต้องตอบรับการแต่งตั้งผู้ระงับข้อพิพาทตามหนังสือของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคำชี้ขาดเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เห็นว่า อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ร้องได้ปฏิบัติตามระเบียบและวิธีการในการระงับข้อพิพาทตามที่กำหนดในสัญญาอนุญาโตตุลาการเรียบร้อยแล้วโดยส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้คัดค้านตามภูมิลำเนาที่ระบุในสัญญาซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดียวกันกับหนังสือรับรองของผู้คัดค้านเพื่อแต่งตั้งผู้ระงับข้อพิพาท และเรียกร้องให้ผู้คัดค้านเสนอชื่อผู้ระงับข้อพิพาทหลายครั้ง แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อที่ 93.1 เนื่องจากข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ระงับข้อพิพาทไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้หรือไม่สามารถระงับข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ระงับข้อพิพาทได้ตั้งแต่เริ่มแรก สัญญาจึงมิได้กำหนดระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เมื่อผู้ร้องได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการระงับข้อพิพาทข้อที่ 90 ถึงข้อที่ 93 แล้ว สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีผลใช้บังคับแก่ผู้ร้องและผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ตอนท้ายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2558) อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,652,653.32 บาท นับแต่วันที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 4 ธันวาคม 2558 และคำพิพากษามีข้อความแตกต่างไปจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งไม่อาจกระทำได้ ทั้งศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นการไม่ชอบเพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่เป็นหน้าที่ของศาลต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2559 ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เฉพาะในส่วนอุทธรณ์คำสั่งฉบับดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท

Share