คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4573-4574/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการถอนคำฟ้องคดีแพ่งนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 176 บัญญัติไว้มีใจความว่า การถอนคำฟ้องนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย และตามมาตรา 145 บัญญัติไว้มีใจความว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง คดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกานั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกา และทำให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาเลย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องซึ่งเป็นของจำเลยที่ 4 กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 ย่อมหมายความถึงว่าโจทก์ไม่สามารถขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การไถ่ถอนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การขายที่ดินและการขึ้นวงเงินจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้จำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้ ถึงแม้โจทก์จะมิได้ถอนคำฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมมีผลผูกพันคู่ความทุกฝ่ายในกระบวนพิจารณา โจทก์จึงไม่อาจที่จะฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 แต่เพียงฝ่ายเดียวตามลำพังได้ เพราะโจทก์ได้ถอนคำฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และถอนคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 3 ไปแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนคดีหลังว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในสำนวนแรก และโจทก์ในสำนวนคดีหลังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 38217 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ดิน 72 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 51/923 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน (ท.ด.21) ในช่องผู้มอบอำนาจและร่วมกันกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยที่ 2 ในวงเงิน 1,500,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี แล้วดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีนางวลัยพรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 กำหนดไถ่ถอนคืนภายใน 6 เดือน ทั้งนี้จำเลยที่ 2 กับนางวลัยพรรณ ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ โจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมจำนองและไม่มีการชำระเงินจำนองกันจริง ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน (ท.ด.21) และร่วมกันกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจไถ่ถอนจำนองตามที่จดทะเบียนจำนองไว้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545 และมีอำนาจขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 1,700,000 บาท เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 1,700,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 3,000,000 บาท กำหนดไถ่ถอนคืนภายใน 6 เดือน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนขึ้นวงเงินจำนองแก่จำเลยที่ 4 จำนวน 300,000 บาท เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 4 เพิ่มเงินจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 อีกจำนวน 50,000 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้นางวลัยพรรณมีอำนาจจัดการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2546 นางวลัยพรรณนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปทำนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนนิติกรรมทั้งหมดดังกล่าวเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 38217 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ลงวันที่ 30 มกราคม 2545 นิติกรรมไถ่ถอนจำนอง นิติกรรมขาย และนิติกรรมจำนอง ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2545 นิติกรรมขึ้นเงินจำนอง ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 และนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างชำระหนี้จำนอง ลงวันที่ 13 มกราคม 2546 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง จำเลยที่ 4 เป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 38217 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 72 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 51/923 บ้านหลังดังกล่าวมีโจทก์พักอาศัยอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 4 แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์เพิกเฉย การกระทำของโจทก์เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 4 ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหาย หากนำที่ดินและบ้านออกให้บุคคลภายนอกเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2546 เป็นต้นไป ค่าเสียหายคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 40,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์พร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 4 ให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 4 กับชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์และบริวารจะออกไปจากที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 4
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์พร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 38217 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และบ้านเลขที่ 51/923 หมู่ที่ 5 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 4 ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 40,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2546 จนกว่าโจทก์กับบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 2 จำนวน 1,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 จำนวน 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 4 จากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไป ขอถอนฟ้อง แปลความหมายได้ว่า โจทก์ประสงค์ขอถอนฟ้องฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เพียงว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 กระทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจะมิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาไว้โดยเฉพาะ แต่ตามมาตรา 246 และ 247 ของลักษณะ 1 และลักษณะ 2 ว่าด้วยอุทธรณ์และฎีกาให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโดยอนุโลม ซึ่งในการถอนคำฟ้องคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติไว้มีใจความว่า การถอนคำฟ้องนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยี่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย และตาม มาตรา 145 บัญญัติไว้มีใจความว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง คดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกานั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกา และทำให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาเลย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องซึ่งเป็นของจำเลยที่ 4 กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 ย่อมหมายความถึงว่าโจทก์ไม่สามารถขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การไถ่ถอนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การขายที่ดินและการขึ้นวงเงินจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้จำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้ ถึงแม้โจทก์จะมิได้ถอนคำฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมมีผลผูกพันคู่ความทุกฝ่ายในกระบวนพิจารณา โจทก์จึงไม่อาจที่จะฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 แต่เพียงฝ่ายเดียวตามลำพังได้ เพราะโจทก์ได้ถอนคำฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และถอนคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 3 ไปแล้ว กรณีจึงไม่อาจที่จะบังคับตามคำฟ้องฎีกาของโจทก์ได้อีกต่อไป ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่นไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share