คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214-1219/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยว่าได้ กระทำผิดในเรื่องเดียวกันหกสำนวน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน การฟังพยานหลักฐานก็ต้องฟังรวมเป็นคดีเดียว กันเมื่อศาลฎีกาได้ ยกปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ร่วมสำนวนที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ขึ้นวินิจฉัยแม้ฎีกา ของจำเลยในข้ออื่นจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในสำนวนของโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ และย่อมมีอำนาจพิจารณาไปถึงข้อเท็จจริงในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ด้วย หากการกระทำของจำเลยในสำนวนใดไม่เป็นความผิดศาลฎีกาก็ย่อมยกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยโจทก์ทั้งหดสำนวนฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗, ๘๐, ๒๗๙, ๒๘๕, ๙๑ และขอให้นับโทษจำเลยทุกสำนวนติดต่อกันด้วย
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มารดาของผู้เสียหายแต่ละสำนวนได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗, ๘๐, ๒๘๕ รวม ๕ กระทง มีความผิดฐานกระทำอนาจารตามมาตรา ๒๗๙, ๒๘๕ รวม ๕ กระทง ลงโทษทุกกระทงความผิดและนับโทษติดต่อกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดกระทงแรกจำคุกกระทงละ ๗ ปี ความผิด ๕ กระทงหลังจำคุกกระทงละ ๕ เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น ๓๗ ปี ๖ เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เนื่องจากจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนคงจำคุกจำเลย ๒๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมสำนวนที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมสำนวนที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ ว่า การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธ ไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนมิใช่เป็นการลุแก่โทษ ไม่เข้าเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะลดโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ภายหลังการกระทำผิดจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยดี ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษ อันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้แก่จำเลยหนึ่งในสามนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมสำนวนที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ ฟังไม่ขึ้น เมื่อได้ยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้ว แม้ฎีกาของจำเลยในข้ออื่นจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในสำนวนของโจทก์ร่วมสำนวนที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ แต่เนื่องจากคดีทั้งสามสำนวนนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าได้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก ๓ สำนวน ซึ่งได้กระทำผิดเกี่ยวเนื่องกันและศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันแล้ว การฟังพยานหลักฐานก็ต้องฟังรวมเป็นคดีเดียวกัน เมื่อจำต้องฟังพยานหลักฐานรวมกันเช่นนี้หากการกระทำของจำเลยในสำนวนใดไม่เป็นความผิดแล้ว ศาลฎีกาก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาไปถึงข้อเท็จจริงในสำนวนที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕….”
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๘๕ รวม ๒ กระทง ให้จำคุกกระทงละ ๔ ปี รวมเป็นโทษจำคุก ๘ ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยตามมาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลย ๖ ปี ข้อหานอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share