แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ ที่ห้ามมิให้ผู้ว่าคดีฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการนั้น หมายความว่าเมื่อมีการจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังผู้ว่าคดีเพื่อให้ผู้ว่าคดียื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ เมื่อไม่มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาดังเช่นคดีนี้ จุดเริ่มต้นที่จะนับเวลา 72 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับย่อมไม่มี และไม่จำต้องขอผัดฟ้องต่อไป กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 9 โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันโฆษณาสรรพคุณของอาหารนมผงดูมิลค์อันเป็นเท็จและเกินความจริง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร พ.ศ. 2507 มาตรา 18, 32 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นสั่งไม่ประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจกท์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ว่าคดีฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ” นั้น
หมายความถึงกรณีที่มีการจับและควบคุมผู้ต้องหาแล้วอันจะต้องดำเนินการสอบสวนและฟ้องผู้ต้องหาภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจาณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503มาตรา 4 กล่าวคือ เมื่อมีการจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำเนาการสอบสวนไปยังผู้ว่าคดี เพื่อให้รู้ว่าคดียื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ เมื่อไม่มีการจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาดังเช่นคดีนี้ จุดเริ่มต้นที่จะนับเวลา 72 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับย่อมไม่มี และไม่จำต้องขอผัดฟ้องต่อไป กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 9 โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป