คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาฆ่าผู้อื่นต่อศาลพลเรือนแต่ขณะยื่นฟ้องนั้นปรากฏแต่แรกว่าขณะเกิดเหตุข้อหาความผิดต่อชีวิตคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนี้ศาลพลเรือนย่อมไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2517 เวลากลางคืน จำเลยบังอาจใช้อาวุธปืนยิงนายสมบูรณ์ 1 นัด โดยเจตนาฆ่า นายสมบูรณ์ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก12 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ขณะยื่นฟ้องอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 1 ประกอบกับบัญชีท้ายประกาศข้อ (7) และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2517 มาตรา 4 ให้คดีที่มีข้อหาความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บรรดาที่เกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จนถึงวันประกาศพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 มีนาคม 2514 ให้คงอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2517 จึงปรากฏแต่แรกสั่งประทับฟ้องแล้วว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา การฟ้องคดีก็ต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 157 ส่วนข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรคสอง นั้นต้องปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังไม่ใช่ปรากฏว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารตั้งแต่ประทับฟ้อง หากให้อำนาจศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยเพียงสั่งประทับฟ้องเท่านั้น ก็หาจำต้องบัญญัติยกเว้นไว้ดังข้อความในวรรคสอง ไม่ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1352/2506 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายจำนงค์ เชียงเถียร จำเลยและคำพิพากษาฎีกาที่ 34/2508 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีโจทก์ นางสว่าง โงววัน กับพวก จำเลย จึงเห็นว่าคดีนี้ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้

พิพากษายืน

Share