คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์โดยคณะกรรมการขุดเดิมได้นำโรงงานและกิจการผลิตไม้อัดของโจทก์ ไปให้จำเลยเช่าดำเนินกิจการแทนโดยได้ทำสัญญาเช่าและจดทะเบียนกันมีกำหนด 15 ปี สัญญาเช่ามีข้อความข้อหนึ่งว่า “คู่สัญญาตกลงกันว่า หากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อสัญญานี้แล้ว ให้คู่กรณีนำคดีฟ้องร้อง ณ ที่ศาลแพ่ง” ต่อมาบริษัทโจทก์จดทะเบียนกรรมการผู้บริหารงานใหม่ กรรมการชุดใหม่เข้าไปดำเนินกิจการไม่ได้ จึงฟ้องขับไล่จำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งโรงงานพิพาทตั้งอยู่ในเขต อ้างว่า จำเลยเข้าไปดำเนินกิจการผลิตไม้อัดในโรงงานพิพาทปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สัญญาเช่าที่จำเลยทำกับกรรมการบริษัทโจทก์ชุดเก่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ทั้งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ดังนี้ คู่ความมิได้พิพาทกันเกี่ยวด้วยสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ เพราะมิได้ฟ้องร้องหาว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งประพฤติผิดเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่าหรือไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งสัญญาเช่า แต่เป็นการฟ้องร้องในมูลละเมิด โจทก์จึงหาตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7(4) ที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งดังที่ตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาเช่าไม่ คำฟ้องคดีนี้เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่ในเขตศาล จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แล้ว
โจทก์ฎีกาขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ดังนี้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาเกินมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ศาลฎีกาจึงให้คืนค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร โรงงาน เครื่องจักร พร้อมทั้งอุปกรณ์ใช้ในการประดิษฐ์สิ่งที่เป็นไม้และไม้อัดไม้โดยใช้เครื่องจักรโรงงานตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒๖/๓ ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบการค้าประดิษฐ์สิ่งที่เป็นไม้และอัดไม้โดยใช้เครื่องจักร ฯลฯ โดยได้เริ่มผลิตไม้อัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ต่อมาคณะกรรมการชุดปัจจุบันของโจทก์เข้าดำเนินกิจการที่โรงงาน ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปดำเนินงานผลิตไม้อัดโดยใช้โรงงาน เครื่องจักร และใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานของโจทก์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๑๔ โดยปราศจากมูลที่จะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะถือว่ามีการเช่ากันก็ขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ทั้งสัญญาเช่ายังขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ และข้อกำหนดที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย สัญญาเช่าจึงเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีสิทธิจะใช้โรงงานทรัพย์สินและใบอนุญาตของโจทก์อีกต่อไป โจทก์บอกให้จำเลยและบริวารออกไปจากโรงงานและส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย เป็นการละเมิด สิทธิของโจทก์ จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากโรงงานของโจทก์ และส่งมอบโรงงานพร้อมทั้งอุปกรณ์และทรัพย์สินคืนโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๕๒๕,๐๐๐ บาท กับค่าเสียหายเดือนละ ๗๕,๐๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากโรงงานของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าไปดำเนินกิจการในโรงงานของโจทก์โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าเพื่อผลิตไม้อัดมีกำหนด ๑๕ ปี และได้จดทะเบียนการเช่าแล้ว จำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์เดือนละ ๗๕,๐๐๐ บาท จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๑๖ แล้วโจทก์ไม่มาเก็บค่าเช่าดังที่เคยปฏิบัติมา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะตั้งประเด็นเป็น ๒ นัย ขัดแย้งกัน ไม่แน่นอน สัญญาเช่าไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์หรือขัดต่อบทกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของโจทก์ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาเช่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากโรงงานของโจทก์และส่งมอบโรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์พร้อมทั้งทรัพย์สินและใบอนุญาตต่างๆ ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๗๕,๐๐๐ บาท นับแต่เดือน พฤษภาคม ๒๕๑๖ จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากโรงงานของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลจังหวัดสมุทรปราการไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เพราะสัญญาเช่ารายพิพาท ข้อ ๘ มีข้อความว่า “คู่กรณีตกลงกันว่า หากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อสัญญานี้แล้ว ให้คู่กรณีนำคดีฟ้องร้อง ณ ที่ศาลแพ่ง” และอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์จะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่ารายพิพาท โดยนำข้อพิพาทขึ้นฟ้องร้องยังศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗(๔) ศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจศาลเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลบมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อ ได้ ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์ประกอบคำให้การจำเลยรับฟังได้ว่าบริษัทโจทก์โดยนายไสว พงษ์เภตรารัตน์ กรรมการ และนายบุญจิตต์ พงษ์เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ได้นำโรงงานและกิจการผลิตไม้อัดของโจทก์ไปให้จำเลยเช่าดำเนินกิจการแทนโดยได้ทำสัญญาเช่าและจดทะเบียนกันมีกำหนด ๑๕ ปี นับแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๔ รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าหมาย ล.๑, ล.๒ ซึ่งข้อ ๔ แห่งสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่า “คู่สัญญาตกลงกันว่า หากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อสัญญานี้แล้ว ให้คู่กรณีนำคดีฟ้องร้อง ณ ที่ศาลแพ่ง” จำเลยได้เข้าไปดำเนินกิจการผลิตไม้อัดที่โรงงานพิพาทแล้ว ต่อมาวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ บริษัทโจทก์จดทะเบียนกรรมการผู้บริหารงานใหม่ กรรมการชุดใหม่เข้าไปดำเนินกิจการไม่ได้ จึงฟ้องขับไล่จำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งโรงงานพิพาทตั้งอยู่ในเขต อ้างว่า จำเลยเข้าไปดำเนินกิจการผลิตไม้อัดในโรงงานพิพาทปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สัญญาเช่าที่จำเลยทำกับกรรมการบริษัทโจทก์ชุดเก่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ทั้งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ดังนี้ ที่คู่ความมิได้พิพาทกันเกี่ยวด้วยสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ เพราะมิได้ฟ้องร้องหาว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งประพฤติผิดเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่าหรือไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดแห่งสัญญาเช่า แต่กลับปรากฏว่าพิพาทกันโดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเข้าไปดำเนินการผลิตไม้อัดในโรงงานพิพาทโดยมีสิทธิ และอำนาจโดยชอบด้วยกฎมาย ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากโรงงานพิพาท อันเป็นการฟ้องร้องในมูลละเมิด โจทก์จึงหาตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗(๔) ที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งดังที่ตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาเช่าหมาย ล.๑ , ล.๒ ข้อ ๘ ไม่ คำฟ้องคดีนี้เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่ในเขตศาล จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๑) แล้ว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้ออื่นที่จำเลยอุทธรณ์ขี้นมา ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์เพราะโจทก์ฎีกาขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ แต่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ให้คืนค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินแก่โจทก์

Share