แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในเรื่องฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173 วรรคสอง (1) นั้น กฎหมายห้ามแต่โจทก์มิให้ฟ้องจำเลยหาได้ห้ามจำเลยมิให้กลับมาฟ้องโจทก์ด้วยไม่ ไม่เหมือนกับเรื่องฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 ซึ่งห้ามทั้งโจทก์และจำเลยมิให้ฟ้องคดีขึ้นใหม่
การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ ขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาทโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยนั้น จำเลยจะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นหาได้ไม่ (อ้างฎีกาที่1273/2500)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2514 จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ขอห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงที่จำเลยและบริวารปลูกบ้านอาศัยและทำนาอยู่อ้างว่าเป็นของจำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะฟังว่าที่ดินเป็นของโจทก์ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 497/2514การที่จำเลยยังคงปลูกบ้านและหาประโยชน์อยู่ในที่ดินนี้ จึงเป็นการอยู่โดยปราศจากอำนาจ โจทก์บอกให้จำเลยออกไป จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเรือนและพาบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลย จำเลยฟ้องโจทก์ไว้ตามคดีที่โจทก์อ้างจริง แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ไม่ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยได้โต้แย้งสิทธิ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์และจำเลยในคดีนี้ เป็นจำเลยและโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 497/2514 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์กลับกัน ที่พิพาทในทั้งสองคดีเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ ห้ามมิให้เกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ครึ่งเดียว ไม่รวมถึงที่พิพาทด้วย โจทก์ต่อสู้ว่าที่ขายฝากนั้นรวมทั้งที่พิพาทด้วย ในที่สุดศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ทั้งหมด รวมทั้งที่พิพาทด้วย พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยฟ้องคดีนั้นเกิน 1 ปีแล้ว จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่เริ่มฟ้องคดีนั้นจนถึงปัจจุบันเกิน 1 ปี ที่พิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คู่ความไม่สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายใน 2 ประเด็นที่ท้ากัน คือ
1. โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 497/2514 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์หรือไม่
2. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนและพาบริวารออกไปจากที่พิพาท ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า”นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ ฯลฯ” เห็นได้ว่า กฎหมายห้ามแต่โจทก์มิให้ฟ้องจำเลย หาได้ห้ามจำเลยมิให้กลับมาฟ้องโจทก์ด้วยไม่ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 497/2514 นั้น โจทก์ในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลย และโจทก์ก็มิได้ฟ้องแย้ง ดังนั้น ที่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน กรณีไม่เหมือนกับเรื่องฟ้องซ้ำในคดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่บัญญัติห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ซึ่งตามบทมาตราดังกล่าว กฎหมายห้ามทั้งโจทก์และจำเลยมิให้ฟ้องคดีขึ้นใหม่
ส่วนในประเด็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ปรากฏว่าจำเลยให้การและอุทธรณ์ฎีกาต่อมาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในหนึ่งปีนับแต่จำเลยฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะมิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 497/2514 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์นั่นเอง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ 497/2514นั้น จำเลยจะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นหาได้ไม่ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1273/2500 ระหว่าง นางผิว เขมา โจทก์นายเจียม พึ่งฉ่ำ กับพวก จำเลย
พิพากษายืน