คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481-2485/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากจังหวัดสิงห์บุรีถึงบ้านชันสูตร การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันนำรถยนต์โดยสารเข้าไปรับส่งคนโดยสารและสินค้าในเส้นทางซึ่งนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนนั้น ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10 อันมีโทษตามมาตรา 59 ตามฟ้องโดยตรง เพราะออกวิ่งนอกเส้นทางที่กำหนดให้ประกอบการขนส่ง หาได้เป็นความผิดเกี่ยวกับมาตราอื่นที่โจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษไม่
จำเลยที่ 7 ของแต่ละสำนวนเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้อง จึงเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 34(1) ซึ่งบัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะ จำเลยที่ 7 จึงมิใช่ผู้ประกอบการขนส่งด้วยไม่มีความผิดตามมาตรา 10 ดังฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง ๕ สำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ทำการขนส่งผู้โดยสารและดำเนินกิจการทุกชนิดเกี่ยวกับการขนส่ง โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นกรรมการ และมีจำเลยที่ ๗ แต่ละสำนวนเป็นผู้ขับรถ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ เวลากลางวัน จำเลยทุกคนในสำนวนที่ ๒ ที่ ๔ และในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๘ จำเลยทุกคนในสำนวนที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๕ ได้บังอาจร่วมกันประกอบการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางซึ่งจำเลยมิได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารจากนางทะเบียนการขนส่งตามกฎหมาย ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๗ แต่ละสำนวนเป็นผู้ขับรถโดยสารประจำทางนั้น ๆ เหตุเกิดที่ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี ตำบลโพธิ์ชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๒, ๑๐, ๕๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓, ๔, ๖
จำเลยทุกคนในทุกสำนวนให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยรับกันฟังข้อเท็จจริงได้ว่า รถยนต์โดยสารทุกคันตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารจังหวัดสิงห์บุรีถึงบ้านชันสูตร ส่วนเส้นทางต่อจากบ้านชันสูตรถึงอำเภอสรรคบุรีซึ่งจำเลยนำรถยนต์โดยสารเข้าไปวิ่งตามฟ้องนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้าไปวิ่งรับส่งคนโดยสารได้ จำเลยที่ ๗ แต่ละสำนวนต่างเป็นลูกจ้างขับรถยนต์แต่ละคันตามฟ้องของบริษัทจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ จึงไม่ผิดตามมาตรา ๑๐ ส่วนการที่จำเลยนำรถวิ่งเลยไปถึงอำเภอสรรคบุรีเกินกำหนดเส้นทางที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งนั้น เป็นการกระทำเกี่ยวกับมาตราอื่นที่โจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษและมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ส่วนจำเลยที่ ๗ แต่ละสำนวนเป็นลูกจ้างคนขับรถยนต์ของบริษัทจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่ผู้ประกอบการขนส่ง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ ๗ ทุกคนก็ไม่มีความผิดฐานร่วมกระทำผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้ง ๕ สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยทุกคนแต่ละสำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๒, ๑๐, ๕๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ พระราชบัญญัติกฤษฎีกาให้ใช้การขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓, ๔, ๖ ให้ปรับจำเลยทุกคนในแต่ละสำนวนคนละ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้ง ๕ สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า รถยนต์โดยสารของบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากจังหวัดสิงห์บุรีถึงบ้านชันสูตร การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ได้ร่วมกันนำรถยนต์โดยสารเข้าไปรับส่งคนโดยสารและสินค้าในเส้นทางซึ่งนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนนั้น ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ อันมีโทษตามมาตรา ๕๙ ตามฟ้องโดยตรง เพราะออกวิ่งนอกเส้นทางที่กำหนดให้ประกอบการขนส่ง หาได้เป็นความผิดเกี่ยวกับมาตราอื่นที่โจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษไม่
จำเลยที่ ๗ ของแต่ละสำนวนเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางตามฟ้องจึงเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓๔(๑) ซึ่งบัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะ จำเลยที่ ๗ จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการขนส่งด้วยไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๐ ดังฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๗ ทุกสำนวน นอกจากที่แก้คงให้บังคับคดีเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share