คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โฉนดและหนังสือมอบอำนาจซึ่งผู้เสียหายลงแต่ลายมือชื่อให้ไว้และอยู่ในความครอบครองของสามีจำเลยที่ 1 เมื่อสามีตายได้ตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการกรอกข้อความปลอม กับปลอมลายมือชื่อนายอำเภอผู้รับรอง และปลอมรอยดวงตราอำเภอลงในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันนำไปแสดงเป็นหลักฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อหนังสือมอบอำนาจ ได้ทำการโอนและแก้ทะเบียนโฉนดฉบับหลวงด้วยแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268,252,267 แต่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนักแต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันเอาโฉนดพิพาทซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหายไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกระทำต่างกรรมกับที่จำเลยกระทำมาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องมีความผิดตามมาตรา 188 อีกกระทงหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ยึดถือโฉนดพิพาทไว้ก็เพื่อประสงค์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า (ก) จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ 2196 ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา ได้เบียดบังเอาโฉนดดังกล่าวให้เป็นของจำเลยที่ 2 (ข) จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันนำโฉนดไปเสีย แล้วทำใบมอบอำนาจปลอมแล้วแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนชื่อเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 (ค) จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันทำปลอมหนังสือมอบอำนาจ และลงลายมือชื่อนายอำเภอปลอมลงในหนังสือมอบอำนาจ (ง) จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันทำปลอมดวงตราประจำตำแหน่งนายอำเภอ และใช้ดวงตราดังกล่าวประทับลงในหนังสือมอบอำนาจปลอม (จ) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันแจ้งความต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยแสดงใบมอบอำนาจปลอม เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องผู้รับโอนที่ดินในโฉนดที่ดินฉบับหลวง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 251, 252, 264, 265, 268, 267, 352, 83 และให้จำเลยทั้ง 4 จัดการคืนโฉนดที่ดินและโอนชื่อในโฉนดที่ดินคืนให้ผู้เสียหาย

จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 252, 267, 268 เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 352 อีกกระทงหนึ่ง แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 188 สำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามมาตรา 252 ฐานใช้รอยตราปลอมนั้น เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามมาตรา 188และมาตรา 268 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกตามมาตรา 188 คนละ1 ปี ตามมาตรา 267 คนละ 1 ปี ตามมาตรา 268 คนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปีคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 คำขอให้ศาลสั่งคืนโฉนดและโอนชื่อในโฉนดคืนแก่ผู้เสียหายนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายฝากให้ผู้อื่น และกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้ตกเป็นของผู้อื่นแล้ว จึงไม่อาจสั่งเช่นนั้นได้ ข้อหาอื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 252,267, 268 แต่เป็นการกระทำผิดต่อเนื่องกันเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุด ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โฉนดเลขที่ 2196 และหนังสือมอบอำนาจซึ่งผู้เสียหายลงแต่ลายมือชื่อให้ไว้และอยู่ในความครอบครองของนายถวัลย์สามีจำเลยที่ 1 เมื่อนายถวัลย์ตาย ได้ตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการกรอกข้อความปลอม กับปลอมลายมือชื่อนายอำเภอผู้รับรอง และปลอมรอยดวงตราอำเภอลงในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันนำไปแสดงเป็นหลักฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อหนังสือมอบอำนาจ ได้ทำการโอนและแก้ทะเบียนโฉนดฉบับหลวงด้วยแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 268, 252, 267 แต่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนักชอบแล้ว แต่ที่ลงโทษตามมาตรา 252 โดยกำหนดโทษให้คงเป็นไปตามศาลชั้นต้นซึ่งหมายถึงกำหนดโทษรวมของความผิดต่างกรรมเป็น 3 กระทงเป็นการไม่ถูกต้อง และเห็นว่าจำเลยยึดถือโฉนดไว้ก็เพื่อประสงค์กรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ควรมีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา352 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันเอาโฉนดซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหายไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามมาตรา 188 และเป็นการกระทำต่างกรรมกับที่จำเลยกระทำมาดังกล่าวข้างต้น จึงต้องมีความผิดตามมาตรา 188 อีกกระทงหนึ่งด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 252 จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดตามมาตรา 188 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงให้จำคุกจำเลยที่ 1ที่ 2 ไว้คนละ 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share