คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เกิด พ.ศ.2495 ไม่ระบุวันเดือนเกิดต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา16 ว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม2495 นับถึงวันเกิดเหตุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูเพราะจำเลยทำละเมิดให้มารดาโจทก์ตายได้ แม้มีบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองมารดาก็ยังต้องอุปการะบุตร ข้อที่ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นแต่บกพร่องเรื่องความสามารถที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ไม่ใช่ไม่มีอำนาจฟ้องแต่ในชั้นฎีกาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่ต้องแก้ไข
การประชุมใหญ่เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกาจะสั่งให้มีหรือไม่ คู่ความจะร้องขึ้นมาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตี๋และนางกุหลาบ อิ่มสุข เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2514 จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทชนรถยนต์ของนางกุหลาบ อิ่มสุข เป็นเหตุให้นางกุหลาบ อิ่มสุข ถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาท โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เพราะมีบิดาเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู โจทก์ที่ 2, 3 และที่ 4ไม่ได้เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่เรียกร้องเกินสมควร

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1ผู้จัดการมรดกของนางกุหลาบ อิ่มสุขผู้ตาย และชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 4และที่ 5

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

คดีมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย คือ

1. โจทก์ที่ 4 มีอำนาจฟ้องหรือไม่

2. โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามหรือไม่

ประเด็นข้อแรกศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 4 บรรยายฟ้องว่า โจทก์เกิดเมื่อพ.ศ. 2495 มีอายุ 20 ปี เมื่อไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าโจทก์เกิดวันใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 บัญญัติให้นับอายุตั้งแต่วันต้นแห่งปีปฏิทินหลวงซึ่งเป็นปีที่เกิด ดังนั้นต้องถือว่าโจทก์ที่ 4 เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 ซึ่งนับจากวันนั้นถึงวันเกิดเหตุคือวันที่ 3 กันยายน 2514 แล้ว โจทก์ที่ 4 ยังคงมีอายุเพียง 19 ปี 8 เดือนเศษ ดังนี้แม้จะนับอายุตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 4 ก็ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ โจทก์ที่ 4 ยังมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะจากมารดาผู้ตายได้โจทก์ที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า ถ้าศาลรับฟังว่า ขณะเกิดหตุและขณะฟ้องคดีโจทก์ที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ โจทก์ที่ 4 ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมเข้ามาดำเนินคดีแทนหรือได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ฟ้องคดีศาลฎีกาเห็นว่าอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 4 นั้นมีอยู่ เป็นแต่เพียงบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น ซึ่งการบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้ศาลมีอำนาจไต่สวนและแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ก่อนศาลพิพากษาคดีเมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 4 เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2496 และศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไป เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2516 ก่อนที่โจทก์ที่ 4 บรรลุนิติภาวะก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ที่ 4 มีอายุเกิน 20 ปี บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถอีกโจทก์ที่ 4 ย่อมมีอำนาจเป็นคู่ความด้วยตนเองได้ และถือได้ว่าโจทก์ที่ 4 มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้น ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1638/2511 ระหว่างนายประยงค์ แก้วแช่ม โจทก์ กับนายแสวง แจ้งจิตร จำเลยที่ 1 และบริษัทยูเนียนแทรเวลเซอร์วิสจำเลยที่ 2

ประเด็นข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า การขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม หมายถึงการขาดสิทธิในอันที่จะได้รับการอุปการะ เมื่อมารดาโจทก์ตายในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ โจทก์ย่อมเป็นบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่ต้องขาดไร้อุปการะได้ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงว่า บิดาโจทก์จะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์อยู่หรือไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1742/2499ระหว่างนายเอื้อน ทองสึก โจทก์ นายเคลื่อน กล้าหาญ จำเลย ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่แล้วตามประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 วรรคสอง ผู้ตายในฐานะมารดาของโจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่าเรื่องอำนาจปกครองนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมาตรา 1536 บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า “บิดามารดาจักต้องอุปการะเลี้ยงดูตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” จึงเห็นได้ว่าไม่ใช่แต่เพียงบิดาเท่านั้นที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร มารดาก็มีหน้าที่เช่นเดียวกันด้วยเหตุผลดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามแล้ว

อนึ่ง จำเลยมีคำขอในฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเพื่อเป็นแบบฉบับต่อไปนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 140 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดในคดีเรื่องใดโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกานั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานศาลฎีกาโดยเฉพาะ คู่ความจะร้องขึ้นมาหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share