คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องแย้งของจำเลยและโจทก์ไม่คัดค้าน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ครั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยเห็นว่าการนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่ฟ้องแย้ง จำเลยจึงได้ยื่นฎีกาและยกปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมขึ้นเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยและพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นให้สั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ไม่ว่าจะโดยเจตนาเพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสดำเนินคดีแก่โจทก์ในเรื่องนี้ใหม่หรือไม่ก็ตาม การใช้สิทธิฎีกาของจำเลยส่อไปในทางไม่สุจริตในอันที่จะแสวงหาความยุติธรรมต่อศาลในทางใดทางหนึ่งให้เสร็จสิ้นกันไปในคราวเดียวกัน กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ จำเลยทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อและวันนัดดังกล่าวเป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาลศาลจึงประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบที่หน้าศาล และเมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นรวม 4 ครั้งซึ่งทุกครั้งศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามที่จำเลยขอทุกครั้ง และต่อมาจำเลยก็ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้ แสดงว่าจำเลยได้ทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว อีกทั้งในชั้นยื่นอุทธรณ์จำเลยมิได้โต้แย้งในเรื่องการแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาไว้ในฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจำเลยเพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งในชั้นฎีกา กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทราบใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำและขนส่งกล่องกระดาษบรรจุผลไม้ประเภทส้มโอ ฝรั่ง และมังคุดให้จำเลย จำเลยได้รับกล่องกระดาษบรรจุผลไม้และโจทก์ได้ขนส่งกล่องกระดาษบรรจุผลไม้ดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินค่าจ้างจำเลยกลับผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 197,229.78 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 195,794 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า กล่องกระดาษตามฟ้องจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์มานำกลับไปเนื่องจากไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับกิจการของจำเลย แต่โจทก์เพิกเฉย กลับนำคดีมาฟ้องศาล เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่ากล่องกระดาษให้โจทก์ส่วนค่าขนส่งกล่องกระดาษจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระเพราะโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการส่งกล่องกระดาษให้จำเลยโจทก์จะเป็นผู้ออกทั้งสิ้น และขอฟ้องแย้งว่ากล่องกระดาษที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำ และที่โจทก์ส่งให้จำเลยบางส่วน โจทก์ใช้กระดาษที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมในการบรรจุส้มโอเพื่อบรรทุกเรือเดินสมุทรไปยังเมืองฮ่องกง ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์ทำให้กล่องกระดาษยุ่ยและทำให้ส้มโอเสียหายคิดเป็นเงิน 1,229,429.50 บาท รวมค่าตรวจพิสูจน์คุณสมบัติของกล่องกระดาษอีก 3,000 บาท เป็นเงิน 1,232,429.50 บาทขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 1,232,429.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 197,229.78 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 195,794 บาทนับถัดจากวันที่ 31 ตุลาคม 2537 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำกล่องกระดาษสำหรับบรรจุผลไม้จำพวกส้มโอฝรั่ง และมังคุด เพื่อบรรจุสินค้าดังกล่าวบรรทุกโดยทางเรือเดินทะเลส่งไปขายยังต่างประเทศหรือที่เมืองฮ่องกง และระหว่างวันที่ 28มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2537 โจทก์ได้ทำกล่องกระดาษดังกล่าวส่งมอบให้จำเลย 8 ครั้ง เป็นกล่องกระดาษบรรจุส้มโอ6 ครั้ง รวม 6,470 กล่อง กล่องกระดาษบรรจุฝรั่ง 1 ครั้งจำนวน 1,536 กล่อง และกล่องกระดาษบรรจุมังคุด 1 ครั้ง จำนวน1,220 กล่อง รวมเป็นเงินค่ากล่องกระดาษและค่าขนส่งจำนวน195,749 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องอีก1,435.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 197,229.78 บาท
จำเลยฎีกาว่า การทำคำให้การและฟ้องแย้งได้ทำโดยทนายจำเลยซึ่งจำเลยได้แต่งตั้งให้เป็นทนายความดำเนินคดีนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมต่อศาล และประเด็นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาต้องคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ควรที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เห็นว่า เรื่องนี้จำเลยเป็นฝ่ายเสนอคำฟ้องแย้งต่อศาลจะโดยทนายความจำเลยหรือไม่ก็ตาม ทั้งจำเลยและทนายความจำเลยต่างก็ต้องมีความมั่นใจว่าฟ้องแย้งดังกล่าวต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาไปด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ครั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องแย้งของจำเลยและโจทก์ไม่คัดค้าน กรณีจึงสมประโยชน์ตามความประสงค์ของจำเลยในอันที่จะได้แสวงหาความยุติธรรมต่อศาลแล้ว ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องใช้สิทธิฎีกายกขึ้นเป็นข้อโต้แย้งและยิ่งไปกว่านั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ จำเลยก็ยังไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ ครั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยเห็นว่าการนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่ฟ้องแย้งและมีข้อเป็นพิรุธว่ากล่องกระดาษที่จำเลยใช้บรรจุส้มโอเพื่อส่งไปขายที่เมืองฮ่องกงนั้นจะเป็นกล่องกระดาษที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำหรือไม่ จำเลยจึงได้ยื่นฎีกาและยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อท้วงติงเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยและพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นโดยสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งจะโดยเจตนาเพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสดำเนินคดีแก่โจทก์ในเรื่องนี้ใหม่หรือไม่ก็ตาม รูปเรื่องส่อไปในทางที่การใช้สิทธิฎีกาของจำเลยเป็นไปโดยไม่สุจริตในอันที่จะแสวงหาความยุติธรรมต่อศาลในทางใดทางหนึ่งให้เสร็จสิ้นกันไปในคราวเดียวกัน กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างถึงก็ไม่ตรงกับข้อฎีกาของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่จำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อและเป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มิถุนายน 2539 ปรากฏว่าจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลศาลจึงประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบที่หน้าศาล และเมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วในวันที่ 20 มิถุนายน 2539หลังจากนั้นภายในระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2539วันที่ 8 และ 19 สิงหาคม 2539 และวันที่ 3 กันยายน 2539 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นรวม 4 ครั้งซึ่งทุกครั้งศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่จำเลยขอทุกครั้ง และจำเลยก็ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้ แสดงว่าจำเลยได้ทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว อีกทั้งในชั้นยื่นอุทธรณ์จำเลยมิได้โต้แย้งในเรื่องดังกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยแต่อย่างใด จำเลยเพิ่งยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้งในชั้นฎีกา กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทราบใหม่ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างถึงข้อเท็จจริงไม่เหมือนกับคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์ส่งมอบกล่องกระดาษสำหรับบรรจุส้มโอตามฟ้องแย้งไม่มีคุณภาพตามที่จำเลยว่าจ้าง และเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายตามฟ้องแย้งหรือไม่เห็นว่า ตามใบขนสินค้าขาออกในเอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 32 และ 42จำเลยส่งสินค้าส้มโอไปยังเมืองฮ่องกง 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน1,650 กล่อง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537 และครั้งที่ 2 จำนวน1,670 กล่อง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2537 ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า กล่องกระดาษบรรจุส้มโอที่จำเลยส่งให้โจทก์ทำและส่งให้เป็นกล่องกระดาษที่ส่งให้ทำเมื่อระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน2537 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2537 รวม 8 ครั้ง จำนวน 9,226 กล่องเป็นกล่องบรรจุกระดาษส้มโอ 6 ครั้ง จำนวน 6,470 กล่องส่วนกล่องกระดาษที่จำเลยฟ้องแย้งว่าเป็นกล่องกระดาษที่โจทก์ใช้กระดาษที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมในการบรรจุส้มโอทำขึ้น เป็นเหตุให้ส้มโอที่ส่งไปเมืองฮ่องกงเสียหาย คือกล่องกระดาษตามใบส่งของลงวันที่ 11 ถึง 23 มิถุนายน 2537 รวม 6 ครั้ง แต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของจำเลยว่ากล่องกระดาษที่ใช้บรรจุส้มโอส่งไปขายที่เมืองฮ่องกงและทำให้ส้มโอเสียหายทั้งสองครั้งนั้นเป็นกล่องกระดาษตามใบส่งของรวม 6 ครั้ง ดังที่ระบุในฟ้องแย้งทั้งตามหนังสือทวงถามให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย ล.2จำเลยก็มิได้ระบุว่าความเสียหายของส้มโอเกิดจากกล่องกระดาษตามที่ระบุในฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ากล่องกระดาษที่ใช้บรรจุส้มโอส่งไปขายเมืองฮ่องกง เมื่อวันที่ 17 และ 23 สิงหาคม 2537 เป็นกล่องกระดาษตามที่ระบุในคำฟ้องหรือฟ้องแย้งเมื่อจำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ตามฟ้องแย้งไม่อาจนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวในฟ้องแย้ง กรณีจึงไม่อาจบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งได้
พิพากษายืน

Share