คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3802/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การชำระหนี้แต่ละครั้งเมื่อไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่นต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างอยู่เสียก่อน หลังจากนั้นเหลือเงินเท่าใดจึงนำไปชำระต้นเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จำเลยผ่อนชำระหนี้ด้วยการออกและโอนเช็คให้โจทก์รวม 20 ครั้ง ซึ่งต้องถือว่าหนี้ส่วนที่ชำระด้วยเช็คระงับสิ้นไปเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้วตามมาตรา 321 วรรคสาม โดยถือเป็นการชำระหนี้ในวันที่เรียกเก็บเงินจากธนาคารและต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนวันชำระหากมีเงินเหลือก็นำไปชำระต้นเงิน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์เรียกนางจรูญ มุดเจริญ จำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกนายปรีดา มุดเจริญจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537จำเลยทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นเงินจำนวนคนละ 4,000,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีกำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละครั้ง จำเลยทั้งสองได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 34108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน โดยให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 2 นับแต่กู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามข้อตกลง โดยชำระดอกเบี้ยถึงวันที่ 15 กันยายน 2538 โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินต่อไป จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสอง และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินคนละ 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15กันยายน 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,252,600 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 (เฉพาะสำนวนแรก) ชำระเงินแก่โจทก์ 5,252,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน จำนวน 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จและขอให้บังคับจำเลยที่ 2 (เฉพาะสำนวนหลัง) ชำระเงินแก่โจทก์ 5,252,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34108 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 จนกว่าชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์รวม21 ครั้ง ครั้งสุดท้ายชำระเป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 2,545,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยที่ 1 คงค้างชำระเงินต้น 1,049,007.13 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6พฤศจิกายน 2539 เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,078,767.12 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2539เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34108 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้หักเงิน 2,210,000 บาท ออกจากดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้หักเงิน 2,210,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ออกจากดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า ในการชำระหนี้แต่ละครั้งนั้นเมื่อไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่นต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างอยู่เสียก่อน หลังจากนั้นเหลือเงินเท่าใดจึงนำไปชำระต้นเงิน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ละคราวจึงต้องคำนวณเสียก่อนว่ามีดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาจนถึงวันชำระเป็นเงินเท่าใด เมื่อมีเงินเหลือจากการชำระดอกเบี้ยแล้วก็นำไปชำระต้นเงินซึ่งอาจทำให้ต้นเงินเหลือลดลงไปและดอกเบี้ยต่อจากนั้นก็ลดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ด้วยการออกและโอนเช็คให้โจทก์รวม 20 ครั้ง ซึ่งต้องถือว่าหนี้ส่วนที่ชำระด้วยเช็คระงับสิ้นไปเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม เช็คตามเอกสารหมายล.2 ถึง ล.15 และ ล.17 ถึง ล.22 จึงถือเป็นการชำระหนี้ในวันที่เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามที่ปรากฏในสำเนาบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย ล.24 ถึง ล.26 และรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วโดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ วันที่ 19 กรกฎาคม2538 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่ 26 กรกฎาคม 2538 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่3 สิงหาคม 2538 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 10 สิงหาคม 2538 เป็นเงิน 110,000 บาทวันที่ 24 สิงหาคม 2538 เป็นเงิน 110,000 บาท วันที่ 28 สิงหาคม 2538 เป็นเงิน100,000 บาท วันที่ 5 กันยายน 2538 เป็นเงิน 110,000 บาท วันที่ 23 พฤศจิกายน2538 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่ 1 ธันวาคม 2538 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่ 3มกราคม 2539 เป็นเงิน 220,000 บาท วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 110,000 บาทวันที่ 23 เมษายน 2539 เป็นเงิน 110,000 บาท วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 เป็นเงิน105,000 บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2539 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่ 8 กรกฎาคม 2539เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 สิงหาคม 2539 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่ 18กันยายน 2539 เป็นเงิน 105,000 บาท วันที่ 16 ตุลาคม 2539 เป็นเงิน 100,000 บาทวันที่ 28 ตุลาคม 2539 เป็นเงิน 100,000 บาท และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 เป็นเงิน100,000 บาท การชำระหนี้ทุกครั้งจึงต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนวันชำระ หากมีเงินเหลือก็นำไปชำระต้นเงินที่ศาลอุทธรณ์ให้หักเงิน 2,210,000 บาท ออกจากดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 เป็นต้นไปจึงไม่ถูกต้องฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์แยกฟ้องมาเป็นคนละสำนวนซึ่งมีคำขอบังคับจำเลยแต่ละคนแยกต่างหากจากกันแม้ศาลชั้นต้นจะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันแล้วเมื่อจะพิพากษาคดีรวมกันก็ต้องคำนึงถึงคำขอของแต่ละสำนวนด้วยว่ามีอยู่อย่างไรคดีสำนวนของจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีคำขอบังคับจำนองด้วย ส่วนคดีสำนวนของจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ ถ้าไม่ชำระจึงขอให้บังคับจำนอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเท่านั้นที่กู้ยืมเงินจากโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มิได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ย่อมไม่มีกรณีที่จะต้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 อันเป็นการมิชอบ กรณีเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 ไปจนกว่าชำระเสร็จโดยให้หักเงิน 2,210,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้โจทก์รวม 20 ครั้ง ใช้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระคำนวณถึงวันชำระแต่ละครั้ง มีเงินเหลือเท่าใดให้ชำระต้นเงินแล้วคำนวณดอกเบี้ยของต้นเงินที่ค้างชำระไปจนกว่าถึงวันที่ชำระครั้งถัดไปตามนัยที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

Share