แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นยกคำร้องเพราะจำเลยวางเงินไม่ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งใหม่ให้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไปยังศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับฎีกาและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 232 ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและสั่งรับหรือไม่รับฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา และจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาเพื่อสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบแต่เมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งต่อมาอันเนื่องจากคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวอาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หรือไม่แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับฎีกา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงชอบแล้ว
การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ผู้ยื่นคำร้องมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 แต่จำเลยเพียงแต่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางโดยมิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน162,091 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน160,929.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 24 มีนาคม2541) ต้องไม่เกิน 1,161.59 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับรองให้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่วางเงินให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับคำร้อง ต่อมาวันที่ 4 กันยายน2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในวันที่18 สิงหาคม 2543 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่วางเงินให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่รับคำร้อง
ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2543 และฉบับวันที่ 4 กันยายน 2543 ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 หาจำต้องให้จำเลยวางเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ซึ่งเป็นวิธีการในชั้นอุทธรณ์ไม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับวันที่ 14 กันยายน 2543
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “จำเลยไม่วางเงินให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับคำร้อง…” ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งใหม่เป็นว่า ให้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองส่งไปยังศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องฉบับนี้ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม วันที่ 14 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นที่จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ประกอบกับมาตรา 232 บัญญัติให้อำนาจศาลชั้นต้นไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาเพื่อสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งต่อมาอันเนื่องมาจากคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวอาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หรือไม่ แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2543 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2543 ให้เสร็จไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกานั้น ผู้ยื่นคำร้องมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ซึ่งนำมาใช้ในการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 คดีนี้จำเลยทั้งสองเพียงแต่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางต่อศาลชั้นต้น มิได้นำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาวางหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษายืน ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2543