คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยอาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของท. มารดาโจทก์โดยทำสัญญาเช่าไว้ป้องกันการบิดพลิ้วแต่ไม่ต้องเสียค่าเช่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะไม่ต้องการให้อาศัยอยู่ต่อไปไม่ได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าดังนี้แม้สัญญาเช่าจะไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือจำเลยก็ยังรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่าที่ที่จำเลยปลูกบ้านอยู่นั้นเป็นของท. จำเลยอาศัยสิทธิของท. เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงเจตนาครอบครองที่พิพาทเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของแม้จำเลยจะครอบครองมานาน25ปีแล้วก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ที่1ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่1ในโฉนดที่ดินที่ยังมิได้แบ่งแยกเป็นหลายโฉนด ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นผลทำให้ที่พิพาทและบ้านของจำเลยส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินโฉนดของโจทก์ที่2และบางส่วนยังคงอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่1ด้วยเช่นนี้โจทก์ทั้งสองต่างมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ฟ้องของโจทก์ที่2ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามป.วิ.พ.มาตรา173 การที่โจทก์ที่2ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งมิได้เป็นทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมเป็นฟ้องในมูลละเมิดหาใช่ฟ้องตามข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่จำเลยมิใช่บุคคลที่จะยกอายุความ1ปีตามป.พ.พ.มาตรา1755ขึ้นต่อสู้ได้แม้โจทก์ที่2ฟ้องคดีเกิน1ปีหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วคดีของโจทก์ที่2ก็ไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลมีคำสั่งให้พิจารณารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนบรรยายฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า เดิมโฉนดที่ดินเลขที่407 เป็นของนางราชแรงฤทธิ์ จำเลยได้อาศัยปลุกบ้านเลขที่ 37/1ในที่ดินบางส่วนของที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยทำสัญญาเช่าวไ้เป็นหลักฐานเพื่อป้องกันการบิดพลิ้ว โดยไม่ได้คิดค่าเช่าจากจำเลยครั้น พ.ศ. 2519 นางราชแรงฤทธิ์ถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่ต้องการให้จำเลยอยู่ต่อไปจึงขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป หากจำเลยไม่ยอมรื้อก็ให้โจทก์มีสิทธิจัดการรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินที่โจทก์ฟ้องโดยความสงบเปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของมา 25 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยเช่าที่ดินจากใคร ฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นฟ้องซ้อนกับของโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 และคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 62/2524 ให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 407 ของโจทก์ที่ 1 พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป หากจำเลยเพิกเฉยก็เห็นโจทก์ที่ 1 จัดการรื้อถอนเท่าที่สามารถทำได้ โดยให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายแทนและให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 500 บาท และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 108/2524ให้จำเลยรื้อถอนเรือนเลขที่ 37/1 สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นและขนย้ายพืชพันธ์ุต้นผลไม้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 2 และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ที่ 2 ตามสภาพเดิม ให้ดจำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 100 บาท ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2524จนกว่าจะขนย้ายออกไปเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์สำนวนละ 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งสองด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องแรกฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 407 เดิมเป็นของนายทองสุข กนิษฐะสุนทร มารดาของโจทก์ทั้งสอง หลังจากนางทองสุขถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2519 แล้ว ได้มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 407 ออกเป็น 6 ส่วน ให้แก่บุตรของนายทองสุข 6 คน คนละหนึ่งส่วนตามพินัยกรรมของนางทองสุข ปรากฎว่าโจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินที่เหลืออยู่โฉนดเลขที่ 407 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้ที่ดินด้านทิศตะวันออกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 10849 ที่พิพาทที่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 37/1 ส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 10849 ของโจทก์ที่ 2 มีเพียงส่วนน้อยทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 407 ของโจทก์ที่ 1
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทเป็นของตนเองด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของต่อเนื่องกันตลอดมาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงปรากฎตามเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 21 ซึ่งเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ว่า นางทองสุขซื้อที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองดังกล่าวมาจากนายตนกูสะเส็ม สนูบุตร เมื่อวันที่9 พฤษภาคม 2479 นับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลา 45 ปีแล้วต่อมาที่ดินแปลงนี้ได้ออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน2504 คือโฉนเลขที่ 407 เอกสารหมาย จ.1 ฉะนั้นที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทมา 25 ปีแล้ว ตอนเข้าครอบครองเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีผู้ใดถือกรรมสิทธิ์ จึงรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยได้รับอนุญาตจากนางทองสุขเจ้าของที่ดิน หาใช่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยพลการไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 ไม่ได้ระบุค่าเช่าเดือนละเท่าใด เช่าที่ดิน เนื้อที่เท่าใด ที่ดินตั้งอยู่ที่ไหน และไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้เช่าแต่อย่างใด สัญญาเช่าจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลจะรับฟังหาได้ไม่ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่าโจทก์ให้จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยโยไม่คิดค่าเช่าจากจำเลย แต่ให้จำเลยทำสัญญาเช่ากันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นการป้องกันการบิดพลิ้ว แสดงให้เห็นว่ามูลฟ้องเป็นเรื่องโจทก์อาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ต้องการให้จำเลยอาศัยอยู่ต่อไป จึงขอให้ขับไล่จำเลย หาใช่โจทก์อาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ ดังนั้น แม้สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 จะไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย จึงรับฟังเป็นสัญญาเช่ายันแก่จำเลยไม่ได้ก็ตาม แต่ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่าที่พิพาทที่จำเลยปลูกบ้านอยู่นั้นเป็นของนางทองสุข และจำเลยปลูกบ้านเลขที่ 37/1 อยู่ในที่พิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของนางทองสุขนั่นเองข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่า ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ จำเลยได้แสดงเจตนาครอบครองที่พิพาทเป็นปรปักษ์ต่อนางทองสุขเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือต่อโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของนางทองสุขแต่ประการใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้จำเลยจะครอบครองมานาน 25 ปีแล้ว ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีของโจทก์ที่ 1 เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีหมายเลขดำที่62/2524 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2524 ซึ่งขณะนั้นโฉนดเลขที่407 ยังมิได้แบ่งแยกเป็นหลายโฉนด เพราะอยู่ในระหว่างการรังวัดแบ่งแยกของเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 หลังจากโจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2524เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้แบ่งแยกออกโฉนดเลขที่ 10849 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ปรากฎว่าที่พิพาทและบ้านเลขที่ 37/1 ของจำเลยส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 10849 ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีดำที่ 108/2524 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2524คือหลังจากได้รับโฉนดที่ดินมาแล้ว นอกจากนี้ที่ดินพิพาทบางส่วนยังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ด้วย กล่าวคือที่พิพาทบางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ 1 บางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ 2โจทก์ทั้งสองต่างมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ ฟ้องของโจทก์ที่ 2จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173 ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องของโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกว่า 1 ปี นับแต่มารดาโจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 2 ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของนางทองสุขตกทอดมายังโจทก์ที่ 2 ตามพินัยกรรมของนางทองสุข และเรียกค่าเสียหายที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทของโจทก์ที่ 2 โดยละเมิด หาใช่โจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกที่พิพาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่ อีกทั้งจำเลยก็มิใช่บุคคลที่จะยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วก็ตาม คดีของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาสำนวนละ 1,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง.

Share