แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนนั้นเป็นความจริง โดยแจ้งไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้ในขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งนายอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ได้บังอาจกระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ จำเลยได้นำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรีว่า โจทก์ได้กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทใส่ความจำเลยโดยโฆษณาทางเครื่องกระจายเสียงต่อบุคคลที่ ๓ และประชาชนทั่วไปว่าจำเลยเป็นภัยสังคมที่อยู่ในเครื่องแบบมหาดไทย เนื่องจากจำเลยทำการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือบันทึกภาพเหตุการณ์เขมรฆ่าโหดคนไทย ๓๐ ศพขึ้นออกจำหน่ายแก่ประชาชนและโจทก์โดยโฆษณาไว้ว่าจะนำเงินรายได้ทั้งหมดไปช่วยซื้ออาวุธให้ราษฎรชายแดน คุ้มครองหมู่บ้านอำเภออรัญประเทศ เป็นการป้องกันจากการละเมิดของเขมร แล้วจำเลยได้นำเงินจากการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นเสีย ซึ่งความจริงจำเลยมีพฤติการณ์เป็นจริงดังโจทก์โฆษณาเครื่องกระจายเสียง จำเลยได้นำความซึ่งเป็นความเท็จเกี่ยวกับความผิดในคดีอาญาซึ่งความจริงนั้นโจทก์มิได้พูดจาหมิ่นประมาทจำเลยดังคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๗๑/๒๕๒๒ เรื่องหมิ่นประมาทไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศ อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกกุมขังต้องวิ่งเต้นหาหลักทรัพย์มาประกันตัวและเพื่อที่จะให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๔ วรรคท้าย
วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์แถลงรับว่าโจทก์ได้กล่าวข้อความดังที่ปรากฏในคำฟ้องตามที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนจริง และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายุติแล้วว่า ข้อความที่โจทก์พูดดังกล่าวไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๗๑/๒๕๒๒ จริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อไป มีคำสั่งให้งดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อความที่จำเลยนำไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องนั้นเป็นข้อความจริง และวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงการแจ้งข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย เมื่อฟังว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามที่โจทก์กล่าวหา คดีจึงไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง
พิพากษายืน